เมืองไทยเราเข้าสู่ช่วงมรสุมเต็มตัว โดยเฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนที่ใช้รถ ต้องมีโอกาสขับรถลุยน้ำท่วมกันบ้างใช่ไหมครับ
สิงห์อาสา จึงได้รวบรวมเทคนิคการขับรถลุยน้ำท่วม เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันไม่ให้รถเกิดความเสียหายเมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องลุยน้ำท่วม เพื่อนๆ จะได้ไม่ต้องควักกระเป๋าซ่อมรถให้เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา
ประเมินระดับน้ำก่อนที่จะตัดสินใจขับรถลุย
– ระดับน้ำ 5 – 10 ซม. รถทุกคันสามารถขับรถลุยน้ำระดับนี้ได้ ไม่มีผลอะไรกับเครื่องยนต์
– ระดับ 10 – 20 ซม. รถทุกคันยังขับลุยได้ ไม่มีผลกับเครื่องยนต์ แต่คนที่ขับรถขนาดเล็กอาจจะได้ยินเสียงน้ำกระเพื่อมใต้ท้องรถตลอดเวลาและมีโอกาสที่น้ำจะเข้ารถได้
– ระดับ 20 – 40 ซม. เริ่มมีปัญหากับรถขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะเกือบทุกรุ่นจะมีระยะความสูงจากพื้นประมาณ 15-17 ซม.เท่านั้น ยังสามารถขับได้แต่ มีโอกาสสูงที่น้ำจะเข้ารถและห้องเครื่อง
– ระดับ 40 – 60 ซม. ระดับนี้เป็นอันตรายกับรถขนาดเล็กและขนาดกลางเกือบทุกประเภท แนะนำว่าไม่ควรขับรถลุยน้ำอย่างยิ่ง ส่วนรถกระบะยังพอขับลุยได้ แต่ต้องระวังเรื่องของคลื่นน้ำเพราะจะทำให้น้ำเข้ารถและห้องเครื่องได้
– ระดับ 60 – 80 ซม. ระดับน้ำขนาดนี้เป็นอันตรายกับรถทุกประเภท ถึงแม้จะเป็นรถใหญ่ก็ตาม หากน้ำไหลเข้าเครื่องยนต์ อาจทำให้เครื่องยนต์หยุดชะงักและสร้างความเสียหายแก่ระบบต่างๆ ได้
– 80 ซม.ขึ้นไป ระดับขนาดนี้คือระดับที่สูงที่สุดที่รถยนต์จะขับลุยน้ำได้ ซึ่งน้ำสูงระดับนี้หมายถึงน้ำท่วมทั้งกระโปรงรถและไฟหน้า
เมื่อต้องขับรถลุยน้ำท่วมสูงควรปิดแอร์ทันที เพราะพัดลมแอร์จะทำงาน มีโอกาสที่ใบพัดจะตีน้ำกระจายไปโดนห้องเครื่อง ซึ่งอาจทำให้น้ำเข้าห้องเครื่องหรือเข้าระบบไฟได้ นอกเหนือจากนี้พัดลมแอร์อาจโดนสิ่งของที่ลอยตามน้ำ จนทำให้ใบพัดแตกได้
ควรใช้เกียร์ต่ำเมื่อต้องขับรถลุยน้ำท่วมสูง โดยเกียร์ธรรมดา ใช้แค่เกียร์ 1 หรือ 2 ส่วนเกียร์ออโต้ใช้เกียร์ L หรือ 1 (เกียร์ต่ำสุดของรถแต่ละรุ่น) นอกจากนี้ควรรักษารอบเครื่องเอาไว้ประมาณ 1,500 – 2,000 รอบ เพราะหากรอบต่ำเกินไป เครื่องอาจจะดับ และถ้ารอบเครื่องสูงเกินไปอาจดูดน้ำเข้าห้องเครื่องได้ ควรรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอ
ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าการเร่งเครื่องระหว่างขับผ่านน้ำท่วมเพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่อไอเสียเป็นสาเหตุทำให้เครื่องดับ แต่จริงๆ แล้วท่อไอเสียจะมีแรงดันมากพอที่จะดันน้ำออกมาจากท่อได้เอง ถึงแม้ว่าน้ำจะท่วมถึงท่อไอเสียก็ตาม ซึ่งผลเสียของการเร่งรอบสูงๆ คือจะทำให้อุณหภูมิห้องเครื่องสูงขึ้น จนพัดลมระบายความร้อนทำงาน ซึ่งจะเกิดผลเช่นเดียวกับการเปิดแอร์ขณะลุยน้ำท่วม
เมื่อเจอรถสวนเลนให้ชะลอความเร็ว เพราะจะเกิดคลื่นปะทะกัน ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น ทำให้น้ำเข้าห้องเครื่องหรือระบบไฟได้ และแรงปะทะจากคลื่นอาจทำความเสียหายต่อกันชนหรือตัวถังรถได้
อีกหนึ่งอย่างที่ควรคำนึงเมื่อต้องขับรถลุยน้ำท่วมคือระบบเบรค ดังนั้นควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าพอสมควร เพื่อความปลอดภัย และหากขับรถพ้นช่วงน้ำท่วมแล้ว ให้ทำการย้ำเบรกบ่อยๆ เพื่อไล่น้ำออกจากระบบ และทำให้ผ้าเบรกแห้งไว สำหรับรถเกียร์ธรรมดา ให้ย้ำคลัตช์ด้วย เพราะอาจมีปัญหาคลัตช์ลื่นได้หลังจากผ่านการลุยน้ำท่วม