เป็นอีกหนึ่งครั้งที่สิงห์อาสาได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนกลุ่มหนึ่งที่รวมพลังกันในการทำสิ่งดี ๆ เพื่อช่วยเหลือคนอื่น ด้วยความเต็มใจ
ซึ่งภาพล่าสุดที่ได้เห็นน้ำใจของคนไทยนั้น เป็นภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการร่วมมือกันของสิงห์อาสา และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงกับคลองพระยาบรรลือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อกำจัดผักตบชวาจำนวนมหาศาลในพื้นที่ดังกล่าว
ในวันนั้นมีอาสาสมัครรวมทั้งสิ้น 200 คน ทุกคนร่วมกันทำภารกิจอย่างสนุกสนานและเต็มใจ ด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ลอยมาตลอดการทำภารกิจที่มีการแข่งขันผสมลงไปด้วย เพื่อสร้างความสนุกสนานและมิตรภาพดี ๆ ระหว่างชาวบ้านและทีมงานสิงห์อาสา
ในภารกิจนี้สิงห์อาสาได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนอาสาสมัครหลายคน ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ นักศึกษา และทีมงานของสิงห์เบเวอเรช ได้รับรู้ถึงปัญหาและมุมคิดดี ๆ จากชาวบ้านและทีมสิงห์อาสา รวมไปถึงความรู้สึกที่พวกเขาร่วมมือร่วมใจกับปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง พวกเขาคิดอย่างไรกับกิจกรรมนี้…นี่คือความรู้สึกที่ไม่ว่าใครฟังก็ชื่นใจ
“เมื่อก่อนผักตบชวาเยอะมาก” ‘สมชาย สุขดี’ หนุ่มเจ้าถิ่นที่อาสามาช่วยเก็บผักตบชวาตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงเย็นเล่าถึงปัญหาที่เคยเจอมาให้ฟังหลังจากเพิ่งเสร็จภาระกิจมาหมาดๆ
“ที่ผ่านมาผมไม่สามารถใช้น้ำได้เพราะผักตบชวาเยอะจริง ๆ แล้วที่ผ่านมาผักตบชวาก็ไม่ได้ถูกจัดการเท่าที่ควร พอเราได้ลงไปช่วยเหลือพัฒนาคลอง ก็รู้สึกสนุกมาก ๆ และยินดีที่ทำให้น้ำสะอาดอีกครั้ง”
เขายิ้มและตอบคำถามเราด้วยความจริงใจ ก่อนจะพูดถึงสิ่งที่เขาได้รับในวันนี้
“เราได้เรียนรู้ว่าวิธีป้องกันผักตบชวาที่ดีที่สุดคือเราก็ต้องช่วยกันดูแล ยิ่งร่วมมือกันบ่อย ๆ คลองของเราก็ยิ่งสะอาด ยิ่งเห็นน้อง ๆ มาช่วยเหลือเรา ก็ยิ่งสนุก เราเห็นน้อง ๆ เข้ามาเราก็ยิ่งอยากจะมาช่วย”
“เพราะที่นี่คือคลองบ้านเรา เราอยู่ที่นี่ เราก็ต้องไปช่วยกันดูแล” เขาสรุปทิ้งท้าย และเราพยักหน้าอย่างเห็นด้วยกับมุมมองของเขาที่เจ้าของบ้านก็ต้องดูแลบ้านของตัวเอง
คุณป้าขวัญตา เป็นหนึ่งในชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมการจัดการผักตบชวาครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่สั้น ๆ คือความสนุก เพราะเสียงหัวเราะที่โดดเด่นทำให้เราอยากชวนเธอพูดคุยถึงเรื่องราวในวันนี้
“การได้ร่วมเก็บผักตบในวันนี้เราสนุกมาก ๆ วันนี้น้ำไหลแรงกว่าปกติ แต่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยเลย ป้าสนุกมาก ๆ ที่ได้นั่งเรือไปเก็บผักตบอย่างถูกวิธีด้วยนะ”
เราทำหน้าสงสัยว่าการเก็บผักตบที่ถูกวิธีหมายถึงอะไร เธอยิ้มอย่างใจดี และหัวเราะตามสไตล์ก่อนช่วยขยายความ
“เมื่อก่อนป้าเคยเก็บผักตบชวาในคลอง แต่เขาใช้วิธีการกำจัดผิดวิธีนั่นคือฉีดยาลงไปก่อนเพื่อให้ผักตบเน่า ซึ่งเราไม่รู้แล้วลงไปเก็บ ก็กลายเป็นว่าเราก็สารพิษในผักตบกระเด็นใส่แสบตาไปเป็นวัน ๆ มันไม่ดีต่อตัวเราและน้ำในคลองด้วย แต่การเก็บผักตบในวันนี้เราเก็บกันสด ๆ เลยซึ่งปลอดภัยกว่า”
เราพยักหน้าเป็นสัญญาณว่าเข้าใจ ป้าขวัญตาคนเดิมยังคงยิ้มแล้วตอบเราเป็นคำถามสุดท้าย “ที่ผ่านมาเราเคยไปช่วยจิตอาสาเก็บผักตบชวามาตลอด และวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่พวกเรารู้สึกมีความสุข เราตั้งใจว่าจะเอาผักตบชวาไปทำอาหารเลี้ยงสัตว์ เอาไปทำปุ๋ย ผักตบอยู่ในน้ำไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าผักตบชวาถูกเก็บขึ้นมา มันจะทำประโยชน์ได้มากเลย”
ในทุกครั้งที่สิงห์อาสาลงพื้นที่ จะมีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่อาสาไปร่วมช่วยเหลือชาวบ้าน นั่นก็คือเหล่าน้อง ๆ นักศึกษา และภารกิจในวันนี้ก็มีน้อง ๆ นักศึกษาหน้าใหม่หลายคนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักศึกษาจาก มหาวทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ‘ทิพวรรณ การปลื้มจิตต์’
“เราตื่นเต้นมาก ๆ เพราะไม่เคยทำกิจกรรมเก็บผักตบชวาในคลองมาก่อน” เธอหัวเราะไปเล่าไปด้วยสีหน้าสนุก แม้ตอนนี้ตัวเธอจะเปียกปอน
“เราได้รู้ว่าปัญหาของผักตบชวาทำให้สภาพแวดล้อมไม่สวยงาม การแก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุดคือ เราก็อยากจะให้ทุกคนช่วยกัน และเราก็เห็นภาพที่ทุกคนช่วยกันเกิดขึ้นจริง ๆ กิจกรรมในวันนี้ ไม่ใช่แค่มาเก็บผักตบชวาแล้วกลับไป แต่ยังได้เรียนรู้การช่วยเหลือคนอื่นด้วย” เธอเว้นจังหวะหายใจ มองไปที่กลุ่มเพื่อน ๆ ที่ยังคงสนุกกับการทำกิจกรรม
“อนาคตถ้ามีปัญหาอีก เราก็ขอเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาผักตบชวาในพื้นที่อื่น ๆ หลังจากนี้”
สายตาของเธอเป็นประกาย แม้จะเพิ่งเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันในการจัดการผักตบชวา แต่จิตใจที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่น ๆ ของเธอไม่ได้ล้าตาม
“พวกเราได้รู้ว่าการเก็บผักตบชวามันยากมาก ๆ”
สมศักดิ์ ฉิมมา นักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาบอกเล่าถึงภารกิจแรกในชีวิตกับการจัดการผักตบชวาจำนวนมหาศาลในคลองแห่งนี้
“มันไม่สามารถใช้เรือในการออกไปลากผักตบมาได้ ต้องใช้คนลงน้ำไปดันผักตบชวามาแล้วพวกเราค่อยเก็บกัน มันเป็นความลำบากที่สนุก และภูมิใจกับสิ่งที่ทำ มันอาจจะยาก แต่พวกเราก็ช่วยในการเก็บอย่างเต็มที่”
“ถ้าคนในพื้นที่ช่วยดูแล จัดการผักตบชวาตั้งแต่แรกแม้จะเจอเพียงกอเดียวเขาก็จะช่วยกันกำจัดผักตบชวาคลองก็จะสะอาดเหมือนเดิม แต่เดิมปัญหานี้มันค้างคา แต่พอทุกคนช่วยกันดูแล ผมมั่นใจว่าปัญหาที่เขาเคยเจอจะหมดไป”
ก่อนที่จะขอตัวแยกย้ายไปทำงาน เราได้ถามเขาว่าการร่วมช่วยเหลือชาวบ้านจัดการผักตบชวาทำให้เขาเจออะไร เขายิ้มแล้วตอบเราสั้น ๆ แต่เข้าใจได้ง่าย ๆ
“ผมมีความสุขมากครับ…”
อภิรักษ์ เพ็ญสุข นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาที่เพิ่งเคยทำการเก็บผักตบชวาครั้งแรก
“ครั้งนี้คือการเก็บผักตบชวาครั้งแรกครับ ที่ผ่านมาเราไปช่วยเหลือคนมากมายในรูปแบบอื่น ซึ่งนี่คือการเปิดประสบการณ์ใหม่เลย การมาเก็บผักตบชวาทำให้เราได้เรียนรู้ว่า น้ำที่มีผักตบชวาหนาแน่นนั้นส่งผลเสียต่อชุมชน ทั้งเรื่องการระบายน้ำ น้ำเน่าเสียจากผักตบ การทำลายระบบนิเวศน์ ซึ่งมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากเลย”
อภิรักษ์ เล่าถึงการมาร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้เขาได้เห็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจริง ๆ แล้วผักตบชวาแม้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ต้นเหตุจริง ๆ ที่ทำให้มันขยายพันธุ์ได้เร็วก็คือมนุษย์นี่แหละ และถ้าจะไม่ให้มันเกิด ก็คงต้องเริ่มหยุดที่ต้นเหตุ
“เราอยากช่วยรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลแม่น้ำลำคลอง ไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดผักตบชวา ถ้าชาวบ้านรู้ว่าผักตบชวาเติบโตจากน้ำยาซักผ้า หรือน้ำยาล้างจานที่ทิ้งลงคลอง เขาก็จะช่วยกันดูแลความสะอาดของคลองมากขึ้น ซึ่งหน้าที่ของเราในวันนี้ก็คือมาให้ข้อมูลนั้น”
ก่อนที่นักศึกษาหนุ่มจะขอแยกย้ายไปทำภารกิจต่อ เราถามเขาทิ้งท้ายว่าคิดอย่างไรกับการเสียสละเวลาของตัวเองในวันนี้ เขาตอบเราอย่างรวดเร็วทันที
“เราได้มาช่วยชาวบ้านครับ ถ้าเราไม่มาเก็บโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมบริเวณนี้มีสูง การที่พวกเราเข้ามาช่วยจัดการผักตบชวา อาจเป็นการช่วยแก้ปัญหาทางน้ำที่จะเกิดในอนาคตได้”
‘กนกวรรณ วิสมิตตนันท์’ ตัวแทนของสิงห์เบเวอเรช คุณกนกวรรณมีโอกาสร่วมทำกิจกรรมกับสิงห์อาสามาหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้ที่ร่วมลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านถึงปัญหาผักตบชวา และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจัดการให้งานวันนี้ผ่านไปได้อย่างราบรื่น
“วันนี้ต้องขอบคุณเครือข่ายสิงห์อาสา น้อง ๆ จากสถาบันการศึกต่าง ๆ 6 สถาบัน และชาวบ้านในชุมชน ที่มาช่วยกันเก็บผักตบชวาที่หนาแน่น ตรงนี้คือปลายน้ำ เราเคลียร์พื้นที่เพื่อเตรียมรับน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือ เพราะอิทธิพลของพายุโพดุลและคาจิกิ ถ้าทางน้ำไหลคล่องขึ้น โล่งขึ้น โอกาสที่น้ำจะท่วมก็น้อยลง”
คุณกนกวรรณ พูดถึงความรู้สึกในวันนี้ที่เห็นคนจำนวน 200 กว่าคนที่มาจากต่างที่ แต่ช่วยกันทำในสิ่งเดียวกัน ก่อนจะเล่าต่อถึงสิ่งที่สิงห์ฯ สนับสนุนชาวบ้านที่มากกว่าแค่จัดการผักตบชวาอย่างเดียวแต่ยังช่วยสนับสนุนชาวบ้าน และสร้างอาชีพจากผักตบชวา
“สิงห์ฯ ส่งเสริมกลุ่มจักรสานจากผักตบชวาอยู่แล้ว บริษัทเราเห็นความมุ่งมั่นของชาวบ้านกลุ่มนี้ก็เลยสนับสนุนการซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มในการนำไปใช้ในบริษัทของเรา หรือช่วยสนับสนุนการขาย เมื่อสินค้าเขาขายได้ เขาก็มีกำลังใจในการนำผักตบชวามาแปรรูปเป็นสินค้ามากกว่าปล่อยให้เป็นวัชพืช”
“การจัดการอย่างยั่งยืนคือบางครั้งเราต้องดูว่าประโยชน์เขาคืออะไร ถ้าเรามองว่าผักตบชวาคือมลภาวะทางน้ำ ก็ไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าเราช่วยให้เขามองเห็นว่าผักตบชวามีมูลค่าผักตบชวาจะถูกนำมาสร้างมูลค่าโดยไม่ได้ทิ้งไว้ในน้ำเฉย ๆ ซึ่งมันก็จะเป็นการช่วยดูแลรักษาแม้น้ำลำคลอง พร้อมสร้างรายได้ให้ชุมชนไปอีกทาง”
ทั้งหมดที่คุณกนกวรรณ ในฐานะตัวแทนของสิงห์ฯ กล่าวมา เกิดจากความมุ่งมั่นและจริงใจในการช่วยเหลือชาวบ้านของสิงห์ฯ ที่ไม่ได้ต้องการจัดการปัญหาแค่เบื้องต้น แต่ยังมองไปถึงการจัดการปัญหา และช่วยเหลือชาวบ้านอย่างยั่งยืนอีกด้วย