ปีนี้เมืองไทยเจอกับปัญหา ‘แล้งหน้าฝน’ ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา ฝนจึงตกน้อยกว่าปกติร้อยละ 10

สำหรับคนที่อยู่เมืองใหญ่อาจจะไม่สังเกตว่าจริง ๆ พื้นที่ห่างไกลในต่างจังหวัดประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทั้งใช้ในชีวิตประจำวัน ทำการเกษตร หน้าแล้งที่เกิดขึ้นกลางหน้าฝนนี้ มีความน่ากังวลแค่ไหน โดยเฉพาะอำเภอต่าง ๆ ในภาคอีสาน

สิงห์อาสา ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาจาก 6 มหาวิทยาลัยในภาคอีสาน ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์นี้ โดยเริ่มที่แรกในพื้นที่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม จากการลงพื้นที่จริง ทีมสิงห์อาสาจึงพบเห็นความน่ากังวลเกี่ยวกับภัยแล้งครั้งนี้

เขื่อนทั่วประเทศมีน้ำน้อยกว่าปกติ

สำหรับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นค่อนข้างได้รับความเดือดร้อน เพราะน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนนั้นน้อยมาก นอกจากน้ำจากเขื่อนจะไม่พอใช้งานแล้ว เมื่อน้ำไม่ถูกปล่อย แหล่งน้ำธรรมชาติก็แห้งเหือด

จากข้อมูลของกรมชลประทานระบุว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว ในภาคกลาง มีปริมาณต่ำมากกว่าที่ควรจะเป็น และน้ำไม่เพียงพอ จึงต้องลดปริมาณการปล่อยน้ำลง ส่งผลให้เกิดความแล้งปกคลุมในหลายพื้นที่

สำหรับในพื้นที่ภาคอีสาน จังหวัดมหาสารคาม ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 1 จังหวัด 2 อำเภอ 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน ได้แก่ ท้องที่อำเภอวาปีปทุม และ พยัคฆภูมิพิสัย โดยอำเภอวาปีปทุม เป็นพื้นที่ที่ทีม ‘สิงห์อาสา’ ลงไปให้ความช่วยเหลือเป็นที่แรก

เกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน

นอกจากขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคแล้ว เกษตรกรในพื้นที่ก็เดือดร้อน เนื่องจากไม่มีน้ำสำหรับให้สัตว์เลี้ยงกิน ทำให้สัตว์ล้มป่วยและตาย เสียหายกันไปหลายครัวเรือน

ในส่วนของพืชไร่ของชาวสวนก็ส่งผลต่อความเสียหายเนื่องจากน้ำไม่พอ ข้าวนาปีที่ปลูกไปแล้วก็ยืนต้นตาย ทั้งที่ปกติช่วงนี้จะอาศัยน้ำฝนในการปลูกข้าว ทว่าฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกษตรกรที่เดือดร้อนอยู่แล้วจากการไม่มีน้ำใช้ก็ยิ่งเดือดร้อนไปกว่าเดิม

แม้จะพยายามเจาะน้ำบาดาลมาใช้ แต่การเจาะน้ำบาดาลก็ทำไม่ได้ เพราะว่าพื้นที่ดังกล่าว น้ำบาดาลมีความเค็ม อันเป็นผลพวงจากชั้นใต้ดินที่มีความเค็มเป็นทุนเดิม จึงต้องพึ่งน้ำจากเขื่อนที่ปล่อยน้ำลงสู่แหล่งธรรมชาติ หรือฝนในการทำเกษตรเท่านั้น

มีความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

ตั้งแต่พฤษภาคมเป็นต้นมา การที่ฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือน ทำให้ชาวบ้านที่ทำเกษตรกร และเลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากทำเกษตรไม่ได้ อาหารสัตว์ หรือน้ำเลี้ยงสัตว์ก็ไม่มี

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท เนื่องจากข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนนับแสนไร่ แต่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย

ในเชิงเศรษฐกิจทั้งระดับเล็ก ไปจนถึงระดับชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่น่ากังวลมาก อาจจะดูเหมือนไกลตัว แต่ภัยแล้งครั้งนี้ มีผลกับทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเมืองหรือคนชนบท ถ้าเศรษฐกิจเสียหาย เราก็เสียหายกันทุกส่วน

มีความต้องการน้ำสะอาดอย่างสูง

ช่วงก่อนที่ทีม ‘สิงห์อาสา’ จะเข้ามาช่วยเหลือ ชาวบ้านต่างดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในการหาน้ำมาใช้ ที่ผ่านมาชาวบ้านจะต้องซื้อน้ำสำหรับใช้อุปโภค บริโภค ในราคา 300 บาท ต่อน้ำ 1 แกลลอนใหญ่จากคนที่นำน้ำมาขาย และประมาณ 3 – 4 วันน้ำถึงจะเข้ามาขายที่หมู่บ้านสักครั้ง

แต่ในเรื่องความสะอาด ทั้งของน้ำที่นำมาขาย รวมถึงภาชนะที่ใส่มานั้น มีความกังวลว่าจะสะอาด ถูกสุขลักษณะเพียงพอแค่ไหน เพราะหากน้ำที่นำมาใช้ไม่สะอาด สิ่งที่ตามมาอาจจะเกิดโรคท้องร่วง หรือท้องเสียทั้งหมู่บ้าน กลายเป็นความเดือดร้อนแบบที่ทำให้การใช้ชีวิตลำบากขึ้นไปอีก

ดังนั้นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการอย่างเร่งด่วนคือน้ำ ไม่ใช่แค่น้ำอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นน้ำสะอาดที่มาพร้อมกับภาชนะที่สะอาด เพื่อให้ถูกสุขลักษณะ สำหรับการดำรงชีวิตในช่วงวิกฤติครั้งนี้

สิงห์อาสาลงพื้นที่ ช่วยผู้ประสบภัยที่ภาคอีสาน

หลังจากที่สิงห์อาสา ทราบว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เมื่อ 27 กรกฏาคม สิงห์อาสา ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาจาก 6 มหาวิทยาลัยในภาคอีสาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด นำทีมลงพื้นที่ ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

คาราวานสิงห์อาสา นำน้ำกว่า 20,000 ลิตร ลงพื้นที่แจกจ่ายให้กับชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน

นอกจากนี้ยังจัด ‘ธนาคารน้ำสิงห์’ ที่เป็นการนำแท็งก์น้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 4 แท็งก์ ไปติดตั้งในพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้านให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน รวมถึงภาชนะที่สิงห์อาสา ใส่น้ำไปแจกจ่ายก็เป็นภาชนะที่สะอาดที่ผลิตตามมาตรฐานของสิงห์อาสา

รับรองว่าชาวบ้านจะได้น้ำใช้ที่ถูกสุขลักษณะ การลงพื้นที่ในครั้งนี้นอกจากที่สิงห์อาสาจะได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่เบื้องต้นแล้ว ยังทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ที่เดือดร้อนจริง ๆ

และการที่ทุกคนได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชาวบ้านก็ทำให้เราทุกคนอยากที่จะกลับไปช่วยเหลือให้พวกเขาบรรเทาความเดือดร้อนและฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

พร้อมกับช่วยภาวนาให้ ‘ฝน’ ตกลงมาไว ๆ