ในวันนี้จุดหมายปลายทางของทีมสิงห์อาสาคือ “สะพานฮาแหล่จะ” สะพานแขวนแห่งเดียวในจังหวัดเชียงรายที่ชาวบ้านในชุมชนสองฝั่งใช้ในการข้ามแม่น้ำกก เป็นเส้นทางสัญจรของคนหลายพันคน แต่ปัจจุบันสะพานแขวนแห่งนี้กำลังชำรุดผุพัง และอาจเป็นอันตรายต่อชาวบ้านที่สัญจรบนสะพานนี้ เหล่าสิงห์อาสาจึงได้รวมตัวกันเดินทางมายังสะพานแห่งนี้ เพื่อบูรณะซ่อมแซมให้ฮาแหล่จะกลับมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม
นักศึกษาสิงห์อาสากับภารกิจฟื้นฟู “สะพานฮาแหล่จะ” เพื่อชาวบ้านได้เดินทางอย่างปลอดภัย
เข็มนาฬิกาบอกเวลาราว 9 โมงเช้า ของวันที่ 11 มี.ค.2563 ทีมสิงห์อาสาและน้องนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา ในเสื้อขาว-เหลืองกว่า 20 ชีวิตก็เดินทางมาถึงที่ตั้งของสะพานฮาแหล่จะ ในตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนสองมือนั้นต่างก็ขนอุปกรณ์ที่ต้องใช้งานอย่างค้อน ชะแลง แผ่นไม้ แปรงทาสี และถังสี โดยมีเป้าหมายเป็นการฟื้นฟูสะพานให้กลับมาสมบูรณ์ ปลอดภัย พร้อมใช้งานต่อไปได้อีกหลายปี
หลังเตรียมพร้อมและวางแผนร่วมกับช่างในชุมชนแล้ว ช่วงสายเสียงเคาะไม้และตอกตะปูก็ดังขึ้น และจะดังยาวนานไปจนถึงยามเย็นของวันเดียวกัน
ความชำรุดที่ต้องรุดซ่อมของสะพานฮาแหล่จะ
ก่อนการมาทำงานในวันนี้ ทีมสิงห์อาสาได้เข้ามาสำรวจสะพานเพื่อประเมินความเสียหายและวางแผนการซ่อมแซมร่วมกับช่างในพื้นที่ ได้ข้อสรุปว่างานบูรณะฮาแหล่จะในครั้งนี้จะต้องใช้ไม้มากถึง 180 แผ่น เพื่อปูพื้นสะพานใหม่แทนส่วนที่ผุพังทั้งหมด รวมถึงจะต้องทาสีเสาสะพานทั้งสองฝั่ง เพื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สวยงาม
เมื่อถึงวันที่ต้องลงพื้นที่เพื่อซ่อมแซมสะพาน ทีมสิงห์อาสาได้วางแผนงาน โดยให้น้อง ๆ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาจาก ม.แม่ฟ้าหลวง และม.ราชภัฏเชียงราย ที่เข้ามาร่วมภาระกิจในครั้งนี้ราว ๆ ยี่สิบคน แบ่งทีมออกเป็นสองส่วน เพื่อแยกหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยทีมแรกจะทำงานไม้บนสะพาน และทีมที่สองจะรับผิดชอบงานสีทั้งหมด
นอกจากประสิทธิภาพด้านการใช้งานแล้ว ทีมสิงห์อาสายังให้ความสำคัญกับ “หน้าตา” ของสะพานด้วย โดยจะทาสีเหลืองซึ่งเป็นสีเดิมของสะพานทับลงไปใหม่อีกครั้ง กระบวนการนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาทั้งวันเช่นกัน งานของสิงห์อาสาในวันนี้จึงไม่ยืดเยื้อ แต่เข้มข้น
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่น้อง ๆ นักศึกษาสิงห์อาสาได้เห็นสะพานฮาแหล่จะก่อนการซ่อมแซมนั้นสภาพน่าเป็นห่วงมากน้อยแค่ไหน และนี่คือสิ่งพวกเขาได้บอกกล่าว ก่อนจะเริ่มลงมือปฏิบัติภาระกิจในวันนี้
“หนูไม่คิดว่ามันจะใช้ได้ด้วยซ้ำ ตัวไม้พื้นของสะพานมันผุพังหลายส่วนมาก พอขึ้นไปบนสะพานก็รู้สึกว่ามันไม่มีความมั่นคงเลย”
“จริง ๆ ผมเคยมาที่สะพานฮาแหล่จะนี้แล้วครั้งหนึ่งเมื่อสักสามสี่ปีก่อน ตอนนั้นเพื่อนพามาเที่ยว สภาพของสะพานยังดีอยู่ พื้นไม้ก็ยังแข็งแรง สีก็ยังไม่ลอก มันสมบูรณ์ถึงขนาดได้รับการโปรโมตเป็นแลนด์มาร์กท่องเที่ยวเลยด้วยซ้ำ แต่ภายหลังมันก็หายไป จนมาเจออีกทีก็ทรุดโทรมมากแล้ว ผมเองยังไม่กล้าข้ามเลย”
เมื่อหน้างานบ่งบอกว่าสะพานควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน สิงห์อาสาทุกคนจึงมีแรงผลักดันและมุ่งมั่นยิ่งกว่าเดิม งานในวันนี้ของพวกเขาคือเปลี่ยนพื้นสะพานใหม่ โดยงัดไม้ที่ผุทั้งหมดออก จากนั้นก็จะเปลี่ยนเอาไม้ใหม่ที่แข็งแรงทนทานอย่าง “ไม้แดง” ตอกกลับลงไป คะเนแล้วคงต้องใช้เวลาตลอดวันเพื่อซ่อมแซมในจุดนี้
งานอาสาฯ คือการเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาและชาวบ้าน
ไม่ใช่ทุกคนที่อาสามาในวันนี้จะผ่านประสบการณ์งานช่างมาก่อน ทำให้ชั่วโมงแรกของการทำงาน พื้นที่บนสะพานต้องเปลี่ยนเป็นห้องเรียนขนาดย่อม ซึ่งชาวบ้านและช่างของชุมชนก็รับบทเป็นครูสอน ให้กับน้อง ๆ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา โดยการ ‘ทำให้ดู’ อย่างใกล้ชิด
“ผมจับงานช่างล่าสุดก็เมื่อครั้งที่ไปออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทของมหาวิทยาลัย พอมาครั้งนี้ก็เลยไม่ได้ช่ำชองมากนัก ช่วงแรกเราก็ทำตัวเป็นลูกมือขนของยกของให้กับพี่ ๆ มากกว่า แต่พอดูเขาทำไปเรื่อย ๆ เราก็พยายามครูพักลักจำจนช่วยเขาทำได้ในที่สุด” เกม-ภาวัต ภูฆัง หนึ่งในอาสาสมัครที่กำลังงัดไม้ ตอกตะปู อยู่บนสะพาน เล่าให้ฟังถึงวิชาที่ได้ร่ำเรียนหน้างาน
“ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่างานอาสามันคืองานที่ลำบาก เราไม่รู้เลยว่าเราจะเจอเหตุการณ์อะไรบ้างในอนาคต แต่ทุกคนพร้อมลุยงานไปพร้อมกัน ซึ่งชาวบ้านทุกคนเป็นกันเองและเต็มใจจะสอนงานเรา ผมว่านี่คือสิ่งสำคัญของค่ายอาสาเลย มิตรภาพที่เกิดขึ้นและความเอื้อเฟื้อเหล่านี้มันหล่อเลี้ยงให้ความเหนื่อยในงานหายไป” เกม-ภาวัต ภูฆัง สรุปการเรียนรู้ของเขา
ไม่ใช่แค่เกมเท่านั้นที่ต้องรื้อฟื้นงานช่างกับชาวบ้าน เพราะสำหรับรุ่นน้องทีมสิงห์อาสาอย่างแตงกวา เธอได้จับค้อนตอกตะปูครั้งแรกก็บนฮาแหล่จะนี่เอง ซึ่งเธอก็ได้พบว่ามันคือความสนุกอย่างหนึ่ง
“จากที่เคยไปงานอาสามาทั้งหมด หนูสนุกกับงานนี้ที่สุด เพราะมันเป็นครั้งแรกที่ได้มาทำงานช่างอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการตอกตะปู งัดไม้ ทาสี ซึ่งทั้งหมดคือความท้าทายสำหรับหนู และชาวบ้านที่มาร่วมมือกันก็จะคอยช่วยคอยสอนอยู่ตลอด” แตงกวา-ศกลวรรณ ปี่ทอง สาวน้อยวัย 20 เล่าให้ฟังถึงการทำงานร่วมกับชาวบ้าน
ภารกิจซ่อมแซมสะพานในวันนี้ประกอบไปด้วยนักศึกษาจากหลากหลายคณะ และหนึ่งในนั้นก็มี “ว่าที่” ครูอย่าง ตั้ม-วรวิน ไชยยะ นักศึกษาครุศาสตร์ ปี 4 มาร่วมลงไม้ลงมือด้วย ซึ่งตั้มเล่าว่า งานอาสาสมัครให้ประโยชน์ต่อการทำอาชีพครูอย่างมาก
“การมาทำอาสามันเหมือนเป็นการเปิดโลกให้กับเรา เพราะเราได้เรียนวิชามากมายจากชาวบ้าน มันเป็นเหมือนใช้ใจกับใจแลกกัน ทำให้เราคิดได้ว่าถ้าเราเป็นครูที่สอนตามหนังสือมันก็คงน่าเบื่อ แต่การสอนประสบการณ์ตรงอย่างการมาลงพื้นที่ทำงานแบบนี้นี่สิ ที่มันหาจากที่ไหนไม่ได้ ซึ่งเราก็อยากเป็นครูแบบนั้น”
งานอาสาสมัครในความเข้าใจของน้อง ๆ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสากลุ่มนี้ จึงไม่ใช่งานที่ไป “ช่วยเหลือ” หรือ “สนับสนุน” แต่เพียงอย่างเดียว เพราะมันคือการ “เรียนรู้” ร่วมกันของพวกเขาและชาวบ้าน
ซ่อมสะพานฮาแหล่จะ ซ่อมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
“ตลอดเวลาที่เราซ่อมแซมสะพาน เราได้รู้เลยว่าสะพานฮาแหล่จะมีความสำคัญอย่างมากต่อคนในชุมชน เพราะระหว่างที่เราทำงาน ก็มีชาวบ้านที่ต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์สัญจรไปมาอยู่ตลอด เราจึงไม่สามารถปิดสะพานได้ เพราะถ้าหากไม่ได้ข้ามทางนี้ ชาวบ้านจะต้องอ้อมไปอีกหลายกิโล”
“สะพานนี้คือสะพานหลักที่คนใช้สัญจร ไม่ว่าจะเดินเท้าหรือทางรถมอเตอร์ไซค์ ถ้าสะพานใช้งานไม่ได้ คนในหมู่บ้านจากทั้งสองฝั่งก็จะไม่สามารถไปหากันได้เลย ส่งผลต่อเนื่องกระทบด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวบ้าน”
“เรารู้มาว่าสะพานนี้เป็นเส้นทางในการเดินมาเรียนของเด็ก ๆ ในชุมชน ซึ่งมันทำให้สะเทือนใจเหมือนกันนะที่ชีวิตและอนาคตทางการศึกษาของคน ๆ หนึ่ง มันขึ้นอยู่กับสะพานแขวนแห่งเดียว ถ้าวันหนึ่งมันพังลงไปเด็ก ๆ ก็ต้องขาดเรียน ความรู้เขาก็ตามไม่ทันคนอื่นแล้ว”
ประโยคข้างต้นนี้คือสิ่งที่เหล่าน้อง ๆ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาได้รับฟังและพบเห็นระหว่างการทำงาน ซึ่งสะท้อนให้พวกเขาได้รู้ว่า “ฮาแหล่จะ” มีความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่นี้มากแค่ไหน
ในชั่วโมงท้าย ๆ ของการทำงาน แดดย่ามบ่ายเริ่มคล้อยตัว แต่ความร้อนแรงของแสงอาทิตย์ยังไม่หายไปไหน ทุกคนที่ทำงานอยู่บนสะพานจนถึงเวลานี้อาจกำลังเหนื่อยล้า แต่ความเหนื่อยนั้นกลับไม่ได้ปรากฏบนใบหน้าเลย น้อง ๆ ยังส่งยิ้มให้คนที่ผ่านไปมาอยู่ตลอดเวลา ส่วนสองมือของพวกเขาก็ยังคงทำงานไม่ลดละ
คงเพราะทุกคนรู้กันดีว่าการทำงานให้เสร็จโดยเร็วนั้นมีความสำคัญมากแค่ไหน เพราะสะพานที่สมบูรณ์หมายความถึงการเดินทางของคนในชุมชนที่สะดวกขึ้น การขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่คล่องตัว การเดินทางไปยังสถานีอนามัยที่รวดเร็ว รวมถึงการที่เหล่านักเรียนจะได้เดินทางมาโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย และประโยชน์อีกมากมายที่สะพานแห่งนี้มีต่อชุมชน
เมื่อถามถึงสิ่งที่พวกน้อง ๆ คาดหวังหลังจากที่ซ่อมสะพานเสร็จแล้วคืออะไร สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ อยากให้สะพานกลับมาแข็งแรงและปลอดภัยดังเดิม เพื่อให้ชาวบ้านที่สัญจรไปมาหมดกังวลเรื่องอุบัติเหตุ และอีกเรื่องคือ อยากให้สะพานฮาแหล่จะ กลับมาสวยงามเพื่อเป็นแลนด์มาร์กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวที่ชุมชนนี้อีกครั้ง เพราะถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา ชาวบ้านก็จะมีอาชีพเพื่อสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัวได้อีกด้วย