ในช่วงวันที่ 6-10 สิงหาคม  2561 กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าได้มีฝนตกเพิ่มขึ้นทั่วทั้งประเทศ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับเขื่อนที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์สูงจำนวน 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร, เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, เขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี

สิงห์อาสาได้รวบรวมข้อมูลระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ๆ และข่าวความเคลื่อนไหวของเขื่อนที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์สูงมาให้เพื่อนๆ ได้ทราบ ว่าในแต่ละพื้นที่สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนครับ

รายงานข่าวจากไทยรัฐ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตั้งท่อกาลักน้ำเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน จำนวน 15 ท่อ ตามคำสั่งของอธิบดีกรมชลประทาน โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 5 สิงหาคม 2561 ซึ่งหากการดำเนินการติดตั้งเสร็จ ระบบท่อกาลักน้ำรวมอยู่ที่ 25 ท่อ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกเพิ่มเป็น 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โดยสถานการณ์ท้ายเขื่อนน้ำอูน ในพื้นที่ อ.พังโคน และ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งอยู่ในเส้นทางการระบายน้ำของเขื่อนน้ำอูนได้รับรายงานว่ายังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการระบายน้ำของเขื่อนน้ำอูน แต่ยังคงอยู่ในสถานะเฝ้าระวังสถานการณ์และติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดในทั้งสองอำเภอ
https://www.thairath.co.th/content/1348209

รายงานข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอส วันที่ 4 สิงหาคม 2561 ผู้ว่าฯเพชรบุรี ได้ทำหนังสือไปยังอำเภอ นายกเทศ มนตรีเมือง และปภ.เพชรบุรี เพื่อแจ้งให้แจ้งเตือน และเตรียมช่วยเหลือชาวบ้าน จากการระบายนำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี หากมีการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ตั้งแต่บริเวณด้านท้ายอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร

โดยจังหวัดเพชรบุรี เตรียมประกาศประชาชนในพื้นที่ 5 อำเภอ ที่จะได้รับผลกระทบยกของขึ้นที่สูง ได้แก่ อ.บ้านแหลม อ.เมือง อ.บ้านลาด อ.แก่งกระจาน และอ.ท่ายาง โดยประสานให้ทาง ปภ.เตรียมเคลื่อนย้ายอุปกรณ์กู้ภัยไปยังศูนย์อำนวยการภัยพิบัติ ที่ศาลากลางจังหวัดวันที่ 5 สิงหาคม 2561)

https://news.thaipbs.or.th/content/273780

นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งมีความจุอ่าง 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 155 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2561 เวลา 7.00 น. มีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,410 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 84% โดย กฟผ.เขื่อนวชิราลงกรณ ปรับแผนระบายน้ำ ตามมติของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ ประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 มีแผนการระบายน้ำ ดังนี้

วันที่ 4 สิงหาคม 2561 ระบายน้ำเฉลี่ย 36 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
วันที่ 5 สิงหาคม 2561 ระบายน้ำเฉลี่ย 39 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
และวันที่ 6-12 สิงหาคม 2561 ระบายน้ำเฉลี่ย 43 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนมาก จึงจำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเพียงพอซึ่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,450 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณรับทราบปัญหาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการทางด้านท้ายน้ำ และได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจาก ณ เวลานี้ มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างมากกว่าวันละ 100 ล้านลบ.ม. อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ และถ้าปริมาณน้ำฝนที่ไหลเข้าอ่างลดลงก็จะทำการลดการระบายน้ำลงเท่าที่จะทำได้

www.posttoday.com/social/local/559793

รายงานข่าวจากข่าวสดวันที่ 4 สิงหาคม 2561 นายประเสริฐ อินทับ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ระดับน้ำในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 เวลา 07.00 น. อยู่ที่ระดับ 174.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นปริมาณน้ำ 15,338.54 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 86.44%

โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 มีน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพิ่มขึ้น 62.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ที่สามารถใช้ได้ 5,073.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้ระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำโครงการชลประทานวันละ 14.96 ล้านลูกบาศก์เมตร และตอนนี้ยังสามารถรับน้ำได้อีก 2,406.46 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 13.56 % ทำให้มั่นใจได้ว่าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ยังคงสามารถรองรับน้ำฝนได้อีก โดยไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของตัวเขื่อน รวมไปถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชนท้ายน้ำอย่างแน่นอน

https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1404585