ด้วยปณิธานของพระยาภิรมย์ภักดี

(บุญรอด เศรษฐบุตร) ผู้ก่อตั้ง
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
ที่ให้ความสำคัญต่องานด้านอาสาสมัคร
มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
ส่งต่อปณิธานถึงคณะผู้บริหาร
รุ่นต่อๆมา ได้ดำเนินงาน
ด้านอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง
ช่วยเหลือและพัฒนาสังคม
ในด้านต่างๆ จนนำมาสู่
การก่อตั้งมูลนิธิ
พระยาภิรมย์ภักดี
และเป็นจุดเริ่มต้นของ
“สิงห์อาสา” ในปี 2554
ซึ่งเป็นเครือข่าย
อาสาสมัครดูแลสังคม
ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ







เนื่องด้วยเจตนารมย์ที่ต้องการช่วยเหลืองานต่างๆ
ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของพระยาภิรมย์ภักดี
จึงได้เข้าไปมีบทบาทในการอำนวยความสะดวก
บรรเทาความยากลำบากของผู้คนผ่านงานด้าน
จิตอาสาอย่างต่อเนื่อง

สมัยที่ท่านทำธุรกิจเรือเมล์ข้ามฟาก เมื่อปี พ.ศ.2453 ปีที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต นำความโศกเศร้ามายังประชาชนทั่วผืนแผ่นดิน พสกนิกรจำนวนมากตั้งใจเดินทางไปถวายบังคมพระบรมศพแต่การสัญจรในช่วงเวลานั้นค่อนข้างยากลำบาก พระยาภิรมย์ภักดีจึงได้นำเรือเมล์ฟรีออกบริการรับส่งประชาชนในการสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเพื่อไปถวายบังคมพระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวง บริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและบริเวณท้องสนามหลวง

ริเริ่มโครงการนักดับเพลิงอาสาสมัคร รวบรวมจิตอาสาทั้งจากกลุ่มพนักงานและชาวบ้าน นำเรือเมล์ที่มีอยู่ติดเครื่องสูบน้ำออกตระเวนดับเพลิงไหม้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ เนื่องด้วยสมัยนั้นบ้านเรือนในเมืองไทยยังใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ถนนหนทางยังไม่มีทำให้การเดินทางต่างๆเข้าไปยังบ้านเรือนในกรณีที่เกิดเหตุอัคคีภัยล่าช้าและสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ต่อมาในปี พ.ศ.2468 พระยาภิรมย์ภักดี ได้เริ่มมอบเงินสนับสนุนให้แก่ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย ของไทยและยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากก่อตั้ง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในปี 2476 ปณิธานและแนวคิดของพระยาภิรมย์ภักดี ยังคงได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง ผ่านการช่วยเหลือสังคมในหลากหลายรูปแบบ จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2518 คณะผู้บริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในขณะนั้น ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี เพื่อสืบสาน

เจตนารมย์ของพระยาภิรมย์ภักดีในการดูแลสังคมให้คงอยู่ และสร้างจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมดูแลรับผิดชอบสังคมให้อยู่คู่กับ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดโดยมีการดำเนินงานหลากหลายกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาสังคม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือสังคม

1.มอบทุนการศึกษา

เพราะเชื่อว่าศักยภาพของคนคือรากฐานที่สำคัญของสังคม การให้โอกาสทางการศึกษา คือ เส้นทางสำคัญสู่การสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพอันเป็นอนาคตของชาติ จึงได้มอบทุนการศึกษาให้แก่ นิสิต นักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ใน 22 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นทุนต่อเนื่อง 4 ปีจนจบการศึกษา เป็นทุนแบบให้เปล่าไม่ต้องใช้ทุนคืน ตอกย้ำเจตนารมณ์แห่งการให้ ซึ่งเป็นรากฐานในการตอบแทนสังคม โดยมอบต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้ “ทุนบุญรอด พัฒนานิสิต นักศึกษา”

2. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และมอบเสื้อกันหนาวในถิ่นทุรกันดาร

ปัญหาด้านสาธารณสุข นับเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งของประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะชาวบ้านบนดอยในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขาดแคลนทั้งโอกาสในการเข้าถึงการแพทย์และเครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอต่อการเผชิญภัยหนาว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยมี นายแพทย์ อนันต์ สุวัฒนวิโรจน์ คุณหมอท่านแรกของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้เริ่มไปให้การรักษาพยาบาลกับชาวบ้านในพื้นที่ชนบทและขาดแคลน โดยเป็นการรักษาและให้ความรู้ด้านสุขอนามัย เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในจังหวัดเชียงราย และยังคงดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องทุกปีปัจจุบันมีแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ที่สละเวลาเพื่อออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีการมอบผ้าห่มกันหนาวให้กับชาวบ้านที่ขาดแคลน ปีละหลายหมื่นผืน ต่อยอดสู่การมอบเสื้อกันหนาวซึ่งมีประโยชน์มากกว่าในแง่ของการใช้ชีวิตประจำวัน บรรเทาภัยหนาวได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

3.โครงการทุนอาหารกลางวัน

ด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ในพื้นที่ทุรกันดาร มีความกินดีอยู่ดี มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ได้จัดตั้ง “โครงการทุนอาหารกลางวันเพื่อโรงเรียนภาคเหนือ” เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และอาหารกลางวันในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน ปัจจุบัน ดำเนินการมอบทุนอย่างต่อเนื่องมาแล้วถึง 37 ปี นอกเหนือจากนี้ ความพิเศษของโครงการไม่ใช่แค่การมอบเงินก้อนหนึ่งให้โรงเรียน นำไปซื้ออาหารให้เด็กๆ เราได้ขยายผลสู่การให้ที่ยั่งยืน ปรับใช้ร่วมกับโครงการ "100 โรงเรียนเกษตรพอเพียง" ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ให้โรงเรียนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้จนสามารถสร้างโครงการอาหารกลางวันที่ยั่งยืนได้ด้วยเงินเพียง 30,000 บาท

ปี พ.ศ.2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนกว่า 12.7 ล้านคน ใน 65 จังหวัดทั่วประเทศ บ้านเรือนต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม จมอยู่ใต้น้ำ เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยไม่สามารถเข้าถึงอาหารและน้ำดื่ม

ในเวลานั้นเอง ทีมงานสิงห์อาสาได้นำน้ำดื่ม ข้าวสาร และอาหารปรุงสุกไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยทั้งผ่านการลงพื้นที่โดยตรง และการกระจายความช่วยเหลือ ผ่านเครือข่าย รวมถึงตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ น้ำดื่มที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ในขณะนั้น ได้รับการนำส่งไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย มากกว่าส่งไปจำหน่ายตามปกติ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้อพยพ ทำให้ “สิงห์อาสา” เป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้าง

การลงพื้นที่ของทีมสิงห์อาสาครั้งดังกล่าว เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของคุณสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในขณะนั้น ที่มอบภารกิจสำคัญ ให้ทีม “สิงห์อาสา” ภายใต้มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ต้องห่วงยอดขาย ไม่ต้องคิดถึงมูลค่าการช่วยเหลือ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ให้ทีมสิงห์อาสา “ไปนำรอยยิ้มของทุกคนกลับมา”

ด้วยความมุ่งมั่นของทีมสิงห์อาสา จึงได้ลงพื้นที่มอบความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อคืนรอยยิ้มให้แก่ผู้คน โดยได้มอบน้ำดื่ม 22 ล้านขวด อาหารกล่อง 1.2 ล้านกล่อง และข้าวสาร 357 ตัน ผ่านความร่วมมือของชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีอยู่ในทุกจังหวัด บรรเทาผลกระทบแก่ผู้ประสบภัย และส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงทุกคน เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายเครือข่ายสิงห์อาสา จนครอบคลุมระดับประเทศและระดับนานาชาติ และยังคงเดินหน้าช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการที่หลากหลาย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมจนถึงปัจจุบัน

จากผลงานการช่วยเหลือสังคมอันเป็นที่ประจักษ์ในช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัย เครือข่ายสิงห์อาสาได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะเพียงพนักงาน ในบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือ และตัวแทนจำหน่าย แต่ขยายสู่นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ กู้ภัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงนักศึกษาต่างชาติ ชาวต่างชาติที่มีใจอาสา จนกลายเป็นเครือข่ายจิตอาสาที่ใหญ่ที่สุด พร้อมช่วยเหลือสังคมในหลากหลายมิติ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์

เครือข่ายนักศึกษา ถือเป็นกำลังสำคัญในการนำความช่วยเหลือไปสู่พี่น้องผู้ประสบภัยในหลากหลายเหตุการณ์ทั่วประเทศ สิงห์อาสาได้ปลูกจิตสำนึก ให้กับเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้เป็นพลังนักศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม มุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่ ปัจจุบันเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา มีสมาชิกจากนิสิตและนักศึกษาครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันอาชีวศึกษา รวมกว่า 190 สถาบันทั่วประเทศ

เครือข่ายอาสาสมัครกู้ภัย เป็นกลุ่มจิตอาสาที่มีความพร้อมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกสถานการณ์ กระจายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศสิงห์อาสาจึงได้ขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มดังกล่าว ให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสิงห์อาสา เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในจังหวัดที่ตนดูแลอยู่รวมถึงประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในพื้นที่ อาทิ หน่วยงานราชการภายในจังหวัดต่างๆ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯลฯ เพื่อให้สามารถลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆได้อย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน มีอาสาสมัครกู้ภัยที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสิงห์อาสาแล้วกว่า 62 หน่วยทั่วประเทศ

ในปี 2559 เครือข่ายสิงห์อาสาได้ขยายเครือข่ายสู่นักศึกษานานาชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เข้ามาศึกษาอยู่ในประเทศไทย โดยในแต่ละปีจะมีจำนวนนักศึกษาจากหลายเชื้อชาติทั่วโลกเข้ามากว่า 3,000 คนต่อปี นอกจากนี้ยังมีจิตอาสาชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือกลุ่ม Expat อีกกว่า 400 คนจาก 18 ประเทศ ซึ่งคนที่เข้าร่วมกิจกรรมสิงห์อาสาจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านการทำงานจิตอาสา เช่นการไปสอนภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนและชุมชนในถิ่นทุรกันดาร และเมื่อคนกลุ่มนี้กลับไปยังประเทศตนเอง จะนำจิตอาสากลับไปพัฒนาบ้านเกิด และสามารถประสานความร่วมมือ กลับมายังสิงห์อาสา เพื่อนำความช่วยเหลือจากประเทศไทยสู่ประเทศตัวเองได้อีกด้วย ตามแนวคิด “World Citizen” มองโลกทั้งใบเป็นโลกใบเดียวกัน ไม่แบ่งแยกพรมแดน

หนึ่งในภารกิจตั้งต้นของเครือข่ายสิงห์อาสาที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี คือภารกิจการลงพื้นที่ของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และการบรรเทาภัยหนาวให้แก่ผู้คนในถิ่นทุรกันดาร ในปี พ.ศ.2530 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของมูลนิธิ นำโดย นายแพทย์อนันต์ สุวัฒนวิโรจน์ หมออาสาคนแรกของมูลนิธิ ได้เริ่มตระเวนลงพื้นที่ให้การรักษาชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านสุขภาพ มีทีมแพทย์แขนงต่างๆ เข้าร่วมกับทีมหน่วยแพทย์ของมูลนิธิอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการสร้างประโยชน์ให้ชุมชนและประเทศชาติด้วยความสามารถและแรงกาย โดยไม่ได้มุ่งเน้นแค่การรักษา แต่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถป้องกันโรคภัยต่างๆ ด้วยตัวเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 มูลนิธิได้เริ่มต้นแจกผ้าห่มกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขัดสนในพื้นที่ใกล้เคียงไร่บุญรอด จ.เชียงราย สิ่งที่พบคือผ้าห่มไม่สามารถ นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันที่ผู้คนยังต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ประชาชนจะยังประสบภัยหนาวเหมือนเดิม ด้วยแนวคิดที่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่และยั่งยืน จึงได้ปรับเปลี่ยนจากผ้าห่ม มาสู่เสื้อกันหนาวที่ผลิตจากเส้นใยสั่งทอพิเศษ มีคอเสื้อแบบคอเต่า เพื่อให้สามารถใช้บรรเทาภัยหนาวได้ทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ดำเนินชีวิตได้สะดวกขึ้น

ปัจจุบัน ทั้งมูลนิธิและเครือข่ายสิงห์อาสาได้ลงพื้นที่มอบความอบอุ่นด้วยเสื้อกันหนาวให้แก่ผู้ประสบภัยหนาว ขยายการดูแลไปยังพื้นที่ต่างๆ ควบคู่กับการมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายคณะแพทยศาสตร์ของสถาบันต่างๆ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาล ชาวบ้านที่เจ็บป่วยแต่ขาดโอกาสการเข้าถึงการรักษาจำนวนมาก รวมระยะเวลาต่อเนื่องนานกว่า 33 ปี จนนายแพทย์อนันต์และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้รับคำเรียกติดปากจากชาวบ้านว่า “หมอบุญรอด”

ปัญหาอุทกภัยนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในหลากหลายพื้นที่ หลายครั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ไม่สามารถเตรียมตัวป้องกันล่วงหน้าได้ทัน ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด บ้านเรือนจมอยู่ใต้น้ำ มีผู้ประสบภัยที่เดือดร้อน ขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาดสำหรับการบริโภคนับพันนับหมื่นครัวเรือนต่อครั้ง

ทีมงานสิงห์อาสาจึงได้ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ฝ่าน้ำท่วมเข้าไปมอบน้ำดื่มสะอาด ข้าวสารและอาหารปรุงสุก ให้ผู้ประสบภัยยังดำรงชีวิตได้ภายใต้สถานการณ์วิกฤติ

โดยในบางเหตุการณ์ได้มีการให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ประสบภัยควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมต่อเนื่องหลายวันที่ภาคใต้คุณต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี ได้ริเริ่มโครงการข้าวชาวนา ช่วยชาวใต้ รับซื้อข้าวจากเกษตรกรในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาที่ปลูกข้าว ขณะเดียวกัน ก็นำข้าวไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการเชิงฟื้นฟู เข้าไปช่วยทำความสะอาดสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้โดยเร็ว

การดำเนินการเชิงป้องกัน จัดโครงการสิงห์อาสาสู้น้ำท่วมในทุกปี โดยนำเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและชาวบ้านในพื้นที่ลงพื้นที่กำจัดผักตบชวาและขยะตามคูคลองต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำไหล อันเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของน้ำท่วม ป้องกันภัยจากต้นเหตุ และนำผักตบชวาไปผลิตเป็นสินค้าจักสาน สร้างรายได้คืนสู่ชุมชน เช่น การนำเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาจาก 6 สถาบันการศึกษาภาคกลางลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แข่งขันกับทีมชุมชนในการกำจัดผักตบชวาในคลองพระยาบันลือ ไม่ให้กีดขวางทางน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และนำผักตบชวาดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ และโคมไฟ

นอกจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัย สิงห์อาสายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น สิงห์อาสา ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือกองเรือยุทธการ (SEAL) จัดอบรมหลักสูตร “กู้ภัยทางน้ำ” ซึ่งเป็นการอบรมประจำทุกปี ให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัย เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ ความสามารถของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยทั่วประเทศ รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ และอุบัติเหตุทางน้ำ

ปัญหานักเรียนและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารขาดแคลนทุนทรัพย์และอาหารกลางวัน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสู่การเติบโตของอนาคตของชาติ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และสิงห์อาสา ได้ลงพื้นที่มอบทุนอาหารกลางวัน เพื่อบรรเทาปัญหาระยะสั้นให้แก่เด็กๆ และโรงเรียน

ขณะเดียวกัน ยังได้น้อมนำหลักปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางสร้างความ กินดี อยู่ดี ให้นักเรียนในแต่ละโรงเรียน ด้วยเงินตั้งต้น 30,000 บาทต่อโรงเรียน โดยในการดำเนินกิจกรรม สิงห์อาสาได้ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา และปราชญ์ชาวบ้าน ในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นทีมงานลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนในโครงการฯ เพื่อก่อสร้างโรงเลี้ยงไก่ไข่ ทำแปลงแปลงเกษตร สร้างโรงเพาะเห็ดและทำบ่อเลี้ยงปลาดุก ผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้นักเรียนสามารถนำไปเลี้ยงชีพ เกิดการเรียนรู้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และพัฒนาไปสู่การนำผลผลิตที่เหลือไปวางจำหน่าย สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว โดยทางบริษัทฯได้ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 100 โรงเรียนทั่วประเทศไทย จากความสำเร็จในการช่วยเหลือโรงเรียนอย่างยั่งยืน ทำให้โครงการ 100 โรงเรียนเกษตรพอเพียงได้รับรางวัล “Asia Responsible Entrepreneurship Awards” (AREA) สาขา การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Empowerment) ครั้งที่ 7 ประจำปี 2017 จากองค์กรเอ็นเตอร์ไพรส์ เอเชีย (Enterprise Asia)

ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ไม่มีน้ำสำหรับการทำเกษตรกรรม ไม่มีรายได้ ทั้งหมดล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาทันทีเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิงห์อาสาจึงได้ดำเนินโครงการหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ร่วมกับ บริษัทในเครือบุญรอดฯ อาทิ โรงงานขอนแก่นบริวเวอรี่, โรงงานมหาสารคามเบเวเรซ และ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่แจกจ่ายน้ำดื่มให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อน

การสร้างเครื่องมือบรรเทาปัญหาอย่างยั่งยืน ร่วมสร้างท่อประปาลำเลียงน้ำจากภูเขาลงมายังหมู่บ้านในพื้นที่ อ.สังขละ จ.สุรินทร์ การติดตั้ง “ธนาคารน้ำสิงห์” เป็นแทงค์น้ำ ขนาด 200 ลิตร จำนวน 4 แทงค์ ให้แก่ชาวบ้าน ในพื้นที่หมู่บ้านโคกแปะ และหมู่บ้านบูรพาพัฒนา ต.โคกสีทองหลาง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ได้ใช้อุปโภคบริโภค คืนรอยยิ้มสู่ชาวบ้าน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงราย เมื่อ 5 พ.ค.2557 นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของไทย ด้วยขนาดถึง 6.3 ริกเตอร์ ความลึก 7 กิโลเมตร ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อคอีกกว่า 2,000 ครั้ง ภัยพิบัติที่ไม่คาดฝันดังกล่าว สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนเกือบ 17,000 หลัง อาคารเรียน ศาสนสถาน ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย สิงห์อาสา พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา สิงห์อาชีวะอาสา จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งการแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยที่มีอุปกรณ์ต่างๆ ชำรุดเสียหาย ให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

เหตุการณ์โค้ชและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี จำนวน 13 คน หายเข้าไปในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมแรงร่วมใจเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ระหว่างปฏิบัติการกู้ภัยตลอด 18 วัน เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาได้นำน้ำดื่มและอาหารเข้าไป มอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถนำทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัยได้

หลังจากนั้น สิงห์อาสายังได้จับมือกับปราชญ์ชาวบ้านเชียงรายและเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาในพื้นที่ ดำเนินโครงการ “ต้นกล้านารับน้ำ” ร่วมดำนาทดแทนต้นกล้าเดิม ที่เสียหายจากความเสียสละของชาวนาในการเป็นพื้นที่รับน้ำจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีอย่างราบรื่น และมากไปกว่านั้นหลังจาก ชาวนากลุ่มดังกล่าวได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วนั้น ทางกลุ่มสิงห์อาสายังได้ช่วยนำข้าวดังกล่าวไปขายภายใต้ชื่อ “ข้าวนารับน้ำ 13 หมูป่า” เพื่อนำรายได้กลับมาตอบแทนน้ำใจเกษตรกรฮีโร่ผู้เสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำ

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา จึงทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน คลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี ไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบน้ำประปาสะอาด ต้องใช้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษมานาน ในปี 2557 สิงห์อาสาและเครือข่ายนักศึกษามากกว่า 20 สถาบัน จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ สร้างระบบประปาภูเขาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง มีโอกาสเข้าถึง น้ำประปาสะอาดเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปีและไม่ต้องทนใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษอีกต่อไป

สะพานฮาแหล่จะถือเป็นสะพานแห่งชีวิต ที่ช่วยร่นระยะการสัญจรกว่า 10 กิโลเมตรให้แก่นักเรียนชาวกะเหรี่ยงในการเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนผาขวางวิทยา หมู่บ้านแคว้วดำ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากของแม่น้ำกก และยังเป็นเส้นทางขนส่งพืชผลทางการเกษตรของชุมชนชาวกะเหรี่ยงสองฝั่งแม่น้ำ การชำรุดของสะพาน ส่งผลให้นักเรียน ไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้และส่งผลให้โรงเรียนที่ไม่มีผู้เรียนอาจต้องปิดตัวลง การขนส่งพืชผลทางการเกษตรระหว่าง 2 ฝั่งแม่น้ำต้องหยุดชะงัก สิงห์อาสาและเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาจาก 4 สถาบันในภาคเหนือ จึงได้เดินทางไปดำเนินภารกิจซ่อมสะพานแขวนฮาแหล่จะ นำท่อนไม้ใหม่มาซ่อมสะพาน ให้เกิดความแข็งแรงเพื่อช่วยให้ทั้งนักเรียนและเกษตรกรกลับมาใช้สะพานแห่งชีวิต สัญจรไปมาระหว่าง 2 ฝั่งแม่น้ำได้อีกครั้ง

สิงห์อาสาร่วมกับ AIESEC Thailand ซึ่งเป็นองค์กรเยาวชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับเยาวชนในการพัฒนาความเป็นผู้นำ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำที่โลกต้องการ ที่ดำเนินการโดยนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประเทศสมาชิกกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ทำโคงการ World’s Citizen โดยการเดินทางไปที่เขตปกครองพื้นที่พิเศษฮ่องกง เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนนักศึกษา AIESEC Hong Kong มาทำกิจกรรมอาสาสมัครในประเทศไทย นอกเหนือจากภารกิจดังกล่าวสิงห์อาสา และเครือข่ายสิงห์อาสานานาชาติ ยังร่วมกับนักศึกษาฮ่องกงจาก The Chinese University of Hong Kong ร่วมกันลงพื้นที่ชายหาด Tolo Harbor เพื่อช่วยกัน ทำความสะอาดชายหาดด้วย

ในหลายๆครั้งที่เกิดเหตุภัยหนาวและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในถิ่นทุรกันดาลในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน ลาว เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา นักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนในประเทศไทยและเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสิงห์อาสานานาชาติ จะเป็นแกนนำในการนำความช่วยเหลือผ่านเครือข่ายสิงห์อาสา เพื่อนำความช่วยเหลือ กลับไปในประเทศของตนเอง โดยสิงห์อาสาจะร่วมกับเครือข่ายสิงห์อาสานานาชาติเดินทางข้ามประเทศไปมอบเสื้อกันหนาวครั้งละหลายพันตัว เพื่อคืนความอบอุ่นให้แก่ ผู้ประสบภัย

เมื่อกลางปี 2561 เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยที่แขวงอัตตะปือ ประเทศลาวแตก เป็นเหตุการณ์วิกฤติที่สุดในรอบ 5 ปีของประเทศลาว ส่งผลกระทบต่อพี่น้อง ชาวลาวกว่า 6,000 คน ระดับน้ำที่ท่วมสูงถึงหลังคาส่งผลให้ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงเขื่อนต้องหนีขึ้นที่สูง เป็นเหตุให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและอาหาร สิงห์อาสา เครือข่ายสิงห์อาสานานาชาติ และตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ จึงลงพื้นที่เพื่อนำน้ำดื่ม ข้าวสาร เสื้อชูชีพและกระเป๋ากันน้ำ ไปมอบให้ผู้ประสบภัยผ่านจุดรับบริจาคต่างๆ อาทิ ศูนย์จิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัย แขวงอัตตะปือ, ทีมกู้ภัยฮุก 31 ด่านช่องเม็ก, แผนกแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว แขวงจำปาสัก เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวลาวต่อไป

อุทกภัยครั้งใหญ่ในเขตอิรวดีของเมียนมาเมื่อปี 2558 นับเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนหลายแสนครัวเรือน สิงห์อาสาและเครือข่ายสิงห์อาสานานาชาติ จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ มอบน้ำดื่มกว่า 2,000 แพ็ค บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำแก่ผู้ประสบอุทกภัย

เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการระบาดของโควิด-19 แม้จะเดินทางข้ามประเทศไปช่วยเหลือโดยตรงไม่ได้ เนื่องจากการปิดประเทศแต่เครือข่ายสิงห์อาสาชาวไทยในเมืองบอสตัน ก็ได้ลงพื้นที่นำหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ออกไปมอบให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองบอสตันและเมืองใกล้เคียง เป็นพลังน้ำใจที่ไม่ทอดทิ้งกันในยามวิกฤติ

จำนวนผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทวีคูณนับตั้งแต่ต้นปี 2563 นำมาสู่ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงมอบเงิน 50 ล้านบาท แก่โรงพยาบาลของรัฐที่เป็นด่านหน้าในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 26 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลต่างๆ ที่รับหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อ โควิด-19 ได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านของการรักษาผู้ป่วยและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปช่วยเหลือทั้งในด้านของการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆที่จำเป็น

เมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีภารกิจล้นมือจนแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง สิงห์อาสาจึงเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการดูแลคุณภาพชีวิตของนักรบเสื้อกาวน์ ด้วยการนำ "อาหารพร้อมรับประทานจากร้านอาหารในเครือ ข้าวรีทอร์ท อาหารแช่แข็ง พร้อมตู้แช่และน้ำดื่ม" ไปมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเป็นการดูแลอำนวยความสะดวกให้บุคลากรการแพทย์ทุกคนที่ปฏิบัติงานได้อิ่มท้องในแต่ละมื้อทุกวัน อีกทั้งยังนำอาหารและน้ำดื่มเข้าไปเติมให้เต็มตู้อย่างต่อเนื่องเป็นการดูแลอำนวยความสะดวกให้บุคลากรการแพทย์ทุกคนที่ปฏิบัติงาน

สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนจำนวนมากกลายเป็นคนตกงาน บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงได้มีนโยบายเร่งด่วนในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาปากท้องให้ผู้ตกงานผ่านโครงการสิงห์อาสาทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายได้ผ่านการทำงานจิตอาสาดูแลท้องถิ่นของตน โดยจะมีการจ้างงานผ่าน 3 โครงการเร่งด่วน คือ โครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า ครอบคลุม 10 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออก, โครงการสิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง ครอบคลุม 20 จังหวัดภาคอีสาน และโครงการสิงห์อาสาป้องกันน้ำท่วม ครอบคลุม 7 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการอาหารบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วน ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย

นอกจากโครงการจ้างงานสร้างรายได้ สิงห์อาสายังจัดโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งเป็นโครงการที่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ใช้ศักยภาพของบริษัทในเครือทั้งหมด ร่วมกับ เครือข่ายของสิงห์อาสาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย, สถาบันอาชีวศึกษา, ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน นำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ในการสร้างอาชีพ เปิดคอร์สอบรมฟรีให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อนำทักษะความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มทักษะอาชีพ ได้แก่ การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านอาหารสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านงานช่าง การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านการเกษตร เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบด้านอาชีพ มีองค์ความรู้ใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน