หลังจากติดตามข่าวภัยธรรมชาติในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา บ้านเราประสบภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ ทั้งภัยดินโคลนถล่มที่น่าน ถนนทรุดตัวที่ภูทับเบิก และน้ำป่าที่น้ำตกนางรอง ซึ่งภัยดังกล่าวนั้นเริ่มเกิดในพื้นที่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ใกล้ตัวเรามากๆ

ดังนั้นสิงห์อาสาจึงรวบรวม วิธีสังเกตภัยธรรมชาติเอาใว้ให้เพื่อนๆ คอยระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุนั่นคือต้องมีสติ เพื่อคิดหาวิธีเอาตัวรอดให้ได้ครับ

น้ำป่า ถือเป็นภัยที่มาคู่กับหน้าฝนเลยก็ว่าได้ ยิ่งหน้าฝนปีนี้ปริมาณฝนค่อนข้างเยอะ เริ่มมีข่าวน้ำป่าให้เห็นอยู่หลายพื้นที่ จึงอยากเตือนเพื่อนๆ ที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณทางน้ำไหล และเพื่อนๆ ที่จะไปเที่ยวในสถานที่ที่สุ่มเสี่ยง เช่น น้ำตก ให้เพิ่มความระมัดระวังกันมากขึ้นนะครับ ควรสังเกตทางหนีทีไล่ใว้ด้วย เพราะในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันจะได้หาทางเอาตัวรอดได้ครับ

ดินถล่มและดินสไลด์ เป็นภัยใกล้ตัวที่อันตรายมาก เพราะสามารถเกิดได้ฉับพลันบางครั้งอาจจะไม่มีเวลาตั้งตัว โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เชิงเขาที่ลาดชัน ถ้าเข้าช่วงมรสุมแนะนำให้ย้ายที่อยู่ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่จริงๆ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติให้บ่อยขึ้น

ส่วนเพื่อนๆ ที่จะต้องขับรถผ่านบริเวณเชิงเขาลาดชันในช่วงนี้ ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ฝนตก ควรงดใช้เส้นทางที่เสี่ยงต่อดินถล่มและดินสไลด์ ให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางราบแทนแม้ว่าจะถึงที่หมายช้าสักหน่อยแต่ปลอดภัยกว่าครับ

หลุมยุบ เป็นอีกหนึ่งภัยใกล้ตัวที่น่ากลัว โดยเฉพาะหลุมยุบที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำใต้ดิน ทำให้เพดานของโพรงใต้ดินบางและยุบตัวลง ซึ่งในกรุงเทพฯเองก็เคยเกิดเหตุการณ์หลุมยุบบนถนนมาหลายจุด ซึ่งอันตรายมาก เพราะผู้ขับขี่รถจะไม่ทันสังเกต หรืออาจจะเห็นในระยะกระชั้นชิดทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นควรขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยประสบเหตุหลุมยุบมาแล้ว

คลื่นน้ำวน หรือทะเลดูด หรือกระแสน้ำย้อนกลับ เป็นปรากฏการณ์ที่คลื่นน้ำซัดเข้าชายฝั่ง ไหลออกสู่ทะเลผ่านทางช่องว่างระหว่างสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหินหรือสันทราย คลื่นนี้จะมีกำลังมาก ซึ่งคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะพยายามว่ายเข้าหาฝั่ง แต่ไม่สามารถต้านความแรงของกระแสน้ำได้ โดยพื้นที่ที่เกิดคลื่นน้ำวนบ่อยนั่นคือ หาดแม่รำพึง จ.ระยอง

ดูวิธีสังเกตคลื่นน้ำวนได้ที่นี่ https://travel.mthai.com/travel_tips/112978.html

จริงๆ แล้วสึนามิเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุมาก เช่น ภูเขาไฟใต้น้ำปะทุ เกิดการระเบิดใต้น้ำ หรืออุกกาบาตตก แต่ที่ประเทศไทยเคยประสบเหตุเมื่อปี 2547 นั้น เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล ดังนั้นเพื่อนๆ ที่ไปเที่ยวทะเล หรือคนที่อาศัยอยู่ใกล้ทะเล ต้องสังเกตเส้นทางหนีคลื่นสึนามิที่ใกล้ที่สุด โดยเลือกจุดหลบภัยที่อยู่บนที่สูง เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจะได้เอาตัวรอดได้ทันครับ