ถึงแม้แม่น้ำจะแบ่งแผ่นดินให้แยกออกเป็นสองฟาก แต่บ่อยครั้งที่ผู้คนบนสองฝั่งของแม่น้ำก็เป็นมิตรสหายกัน เช่นเดียวกับพื้นที่ในตำบลดอยฮางและตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย ที่แม้จะถูกแบ่งอาณาเขตด้วยแม่น้ำกกสายยาว แต่ผู้คนจากทั้งสองตำบลต่างก็มีมิตรไมตรีต่อกัน แม้จะอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำก็ตาม อาจไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนจากสองตำบลนี้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันก็คือสิ่งปลูกสร้างที่ช่วย “เชื่อม” ดินแดนทั้งสองฝั่งให้เป็นหนึ่งเดียว นั่นก็คือ “สะพานฮาแหล่จะ” ซึ่งเป็นสะพานแขวนแห่งเดียวในจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในบ้านแควัวดำ ตำบลแม่ยาว
เราจะพาไปสำรวจกันว่า บนความยาวราว 120 เมตร นอกจากสะพานแขวนแห่งนี้จะเชื่อมชุมชนสองฝั่งแม่น้ำแล้ว ยัง “เชื่อม” อะไรอีกบ้าง
“ฮาแหล่จะ” สะพานที่เป็นมากกว่าแค่ทางข้าม แต่มันเชื่อมต่อชีวิตของชาวบ้าน
จุดเริ่มต้นของอารยธรรมทั้งหลายในโลกมีที่มาจาก “แม่น้ำ” ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะน้ำคือทรัพยากรพื้นฐานของชีวิต เป็นทั้งสิ่งบริโภคและแหล่งอาหารชั้นดี จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เมืองใหญ่หลายแห่งบนโลกล้วนตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ เพราะแม่น้ำเป็นสื่อตั้งต้นที่นำพาความเจริญงอกงามมาให้ดินแดนเสมอมา
ในจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย มีแม่น้ำสายหนึ่งที่ทำหน้าที่เดียวกันนี้ นั่นก็คือ “แม่น้ำกก” ซึ่งไหลผ่านตัวเมืองเชียงรายลงสู่แม่น้ำโขงในอำเภอเชียงแสน ตลอดเส้นทางที่แม่น้ำกกไหลผ่าน ทรัพยากรธรรมชาติล้วนอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดชุมชนมากมายริมฝั่งแม่น้ำ
จุดกำเนิดของ “ฮาแหล่จะ” สะพานที่เชื่อมผู้คนหลายพันคน
สะพานฮาแหล่จะถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2541 ด้วยเงินทุนจากสถานทูตญี่ปุ่นที่ต้องการช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวชุมชนในชนบทไทย สะพานฮาแหล่จะคือสะพานแขวนข้ามแม่น้ำกกที่เชื่อมพื้นที่ตำบลแม่ยาวกับพื้นที่ตำบลดอยฮาง ซึ่งการเกิดขึ้นของสะพานแห่งนี้ได้ช่วยยกระดับความเป็นอยู่และการสัญจรของคนในแถบนี้เลยก็ว่าได้
กลุ่มคนที่ใช้งานสะพานแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใน 3 ตำบล คือตำบลแม่ยาว ตำบลดอยฮาง และตำบลห้วยชมพู ซึ่งหากนับจำนวนผู้ที่ข้ามไป-มาต่อวันก็จะได้ถึงหลักพันคนเลยทีเดียว สะพานแห่งนี้จึงเป็นส่วนสำคัญของชุมชนที่ช่วยอำนวยความสะดวกในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการข้ามไปมาหาเครือญาติ เด็ก ๆ ใช้ข้ามเพื่อไปโรงเรียน หรือข้ามเพื่อไปยังอนามัยตำบล เป็นต้น
“คนที่อยู่อาศัยในสามตำบลนี้เขาก็สนิทชิดเชื้อกันจนเป็นเหมือนเครือญาตินั่นแหละ เขารู้จักกันหมด ซึ่งถ้าไม่มีสะพาน ผมคิดว่าเขาคงไม่ได้รู้จักใกล้ชิดกันขนาดนี้ แต่ช่วงที่ผ่านมาสะพานฮาแหล่จะมันชำรุดทรุดโทรมลงมาก แต่ยังไงชาวบ้านก็ต้องใช้งานอยู่ดี เขาจึงพยายามช่วยกันซ่อมแซมแบบตามมีตามเกิดไปก่อน เช่น ตัดไม้ไผ่มาปะเป็นราวสะพานแค่ให้พอใช้งานได้” ชาวบ้านคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของสะพานที่มีผลต่อความปลอดภัยของคนในชุมชน
เพราะจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน การข้ามฝั่งในอดีตนั้นต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงบนสายน้ำเชี่ยว
“ก่อนที่จะมีสะพาน ชาวบ้านพายเรือเล็ก ๆ ข้ามฝั่งไปมาหาสู่กัน แต่ปัญหาของเรือพายคือ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก อันตรายในการสัญจรจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งในอดีตก็เคยมีคนตกน้ำและเสียชีวิตมาแล้ว”
เป็นเวลากว่า 40 ปีที่สะพานแห่งนี้ทำหน้าที่เชื่อมผู้คนให้ใกล้ชิดกัน ทว่าช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สะพานฮาแหล่จะเกิดชำรุด จากสาเหตุที่ไม้พื้นผุพังจากการใช้งานและความชื้น แต่เพราะสะพานนี้คือจุดเชื่อมสำคัญที่จะทำให้วิถีชีวิตของชาวชุมชนสองฟากฝั่งดำเนินได้ในแต่ละวัน ชาวบ้านหลายพันคนจึงยังต้องฝืนใช้งานต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าหากไม่มีสะพานฮาแหล่จะ พวกเขาจะต้องเดินทางไกลหลายกิโลเมตรเพื่อข้ามไปยังอีกฝั่ง
การเชื่อมกันของสองวัฒนธรรมปกาเกอะญอ-ลาหู่
แม้จะถูกแบ่งให้แยกจากกันด้วยสายน้ำ แต่ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำกกต่างเป็นเพื่อน พี่น้อง และเครือญาติกัน ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่พิเศษในมิตรภาพของพวกเขาก็คือ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำมีชาติพันธุ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม แตกต่างกัน โดยประชากรส่วนใหญ่ในอำเภอแม่ยาวจะเป็นชาวปกาเกอะญอ ส่วนตำบลล้อมรอบทั้งดอยฮางและห้วยชมพูจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่
ทว่าความแตกต่างของสองวัฒนธรรมก็ไม่ได้บั่นทอนมิตรไมตรีของผู้คนในชุมชน ด้วยประโยชน์ของสะพานที่เชื่อมสองวัฒนธรรมเอาไว้อย่าง “สะพานฮาแหล่จะ” ทำให้ผู้คนในพื้นที่ข้ามฝั่งไป-มาเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเข้าร่วมงานประเพณีสำคัญของแต่ละชาติพันธุ์ได้
“ชาวบ้านแถบนี้ถึงจะต่างวัฒนธรรมกัน แต่พอมีงานเขาก็ข้ามไปช่วยกันตลอด เช่นในเดือนกุมภาพันธ์ ฝั่งของชาวลาหู่เขาจะมีการจัดเทศกาลกินวอซึ่งเป็นเหมือนงานขึ้นปีใหม่ ชาวปกาเกอะญอที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำก็จะเข้ามาช่วยจัดงานและร่วมเฉลิมฉลอง พอถึงคราววันสำคัญของชาวปกาเกอะญอ เช่น งานกินข้าวใหม่ หรืองานคริสต์มาส ฝั่งของลาหู่ก็จะข้ามมาร่วมงานด้วยเช่นกัน”
สะพานแขวนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน
นอกจากความสำคัญทางด้านสังคมแล้ว สะพานฮาแหล่จะยังมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนด้วย เพราะเส้นทางยาวราว 120 เมตรนี้เป็นทางลัดในการลำเลียงผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของพื้นที่ หากได้ใช้เวลาอยู่บนสะพานแห่งนี้สักครู่ ก็จะสังเกตเห็นรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่บรรทุกกระสอบข้าวหรือผักผลไม้มาเต็มคันผ่านไป-มาอยู่เนือง ๆ
“ชาวบ้านจะขนข้าวของหรือสินค้าเกษตรผ่านสะพานนี้ทั้งหมด ถึงรถยนต์จะขับข้ามสะพานนี้ไปไม่ได้ แต่เขาก็จะมาจอดเทียบใกล้ ๆ แล้วก็ทยอยใช้รถมอเตอร์ไซค์ขนข้ามฝั่งจนหมดคันรถ” ชาวบ้านในพื้นที่เล่าให้ฟังถึงการขนส่งสินค้าเกษตรจากฝั่งตำบลดอยฮางสู่ตำบลแม่ยาว
ประโยชน์ของสะพานแขวนแห่งนี้ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ด้วยความที่เป็นสะพานแขวนแห่งเดียวในเมืองเชียงราย ฮาแหล่จะจึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมอีกด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการมาชมวิวแม่น้ำกกในมุมที่ไม่อาจหาได้ที่ไหน ทั้งเมื่อมาแล้ว ก็ยังได้เที่ยวสำรวจวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำสายนี้ด้วย
“ในปี ๆ หนึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาที่ชุมชนเหยียบหนึ่งหมื่นราย บ้างมาพักที่เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ ในชุมชน บ้างก็นั่งแพล่องตามแม่น้ำมา หรือบางกลุ่มก็ขับมอเตอร์ไซค์ผจญภัยผ่านมา ซึ่งส่วนมากเขาจะมาจากในตัวเมืองเชียงราย แล้วมาดูปางช้าง ก่อนจะเลยมาเที่ยวดูวิถีชีวิตของชุมชนแถบนี้ ซึ่งเวลาฝรั่งเขามา เขาก็จะถามถึงสะพานแขวนแห่งนี้ เพราะฮาแหล่จะได้กลายเป็นของขึ้นชื่อของเชียงรายไปแล้ว”
เมื่อมีนักท่องเที่ยว ก็หมายความว่าเม็ดเงินจากหลากหลายแห่งจะเข้ามาช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจในชุมชน เจ้าของร้านอาหารใต้สะพานฮาแหล่จะได้บอกเล่าบรรยากาศในช่วงที่สะพานฮาแหล่จะคึกคักไว้ว่า
“ในช่วงเทศกาลก็จะมีคนมาเยอะเป็นพิเศษ นักท่องเที่ยวหลายคนจะปั่นจักรยานมาชมวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งสองฟากแม่น้ำ บางส่วนก็เดินทางมาจากโฮมสเตย์ที่อยู่ในตำบลบ้านแม่ยาว ซึ่งเมื่อเขามาก็จะช่วยให้ร้านค้าแถวนี้คักคักขึ้น อย่างร้านของเราที่เป็นร้านอาหารริมน้ำที่เดียวในชุมชนแถวนี้ ก็จะได้รับผลพลอยได้จากกระแสของนักท่องเที่ยวด้วย”
การสนับสนุนจากสิงห์อาสาที่ช่วยบูรณะให้สะพานกลับมาสมบูรณ์
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่สะพานแขวนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมา ประโยชน์ที่ชาวบ้านในแถบนี้ได้รับจากสะพานมีมากมาย เกินกว่าจะพรรณนาออกมาได้ทั้งหมด บางครั้งสิ่งก่อสร้างธรรมดา ๆ อย่างสะพาน กลับมีความสำคัญและเป็นดั่งหัวใจของชุมชน
ทว่าไม่มีสิ่งก่อสร้างใดสมบูรณ์แบบ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2558 หรือประมาณ 5 ปีที่แล้ว สิงห์อาสาพร้อมกับนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาได้เข้ามาบูรณะสะพานครั้งใหญ่ ซึ่งในครั้งนั้นเราคาดหวังว่าสะพานจะสามารถใช้งานได้ถึง 10 ปี แต่ด้วยการขยายตัวของชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ชาวบ้านจำนวนมากจำเป็นต้องสัญจรบนสะพานนี้ จึงทำให้สะพานแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้น และด้วยความที่สะพานนี้สร้างจากไม้จึงทำให้อายุการใช้งานสั้นลงกว่าเดิมมาก เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาสะพานเริ่มชำรุดผุพังมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดอันตราย จึงต้องการการซ่อมบำรุงรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องน่าเศร้ากับผู้ที่มาใช้งานบนสะพานแห่งนี้
สิงห์อาสา จึงส่งทีมงานเข้ามาประเมินความเสียหายร่วมกับชาวบ้าน และเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ทีมสิงห์อาสาและน้องนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาจาก ม.ราชภัฏเชียงราย และ ม.แม่ฟ้าหลวง ก็ยกทีมมาช่วยกันบูรณะให้สะพานกลับมาพร้อมใช้งานได้ดังเดิม
เมื่อน้อง ๆ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาได้ช่วยกันซ่อมแซมสะพานจนเสร็จด้วยความหวังที่ว่าชาวบ้านจะได้ใช้งานสะพานอย่างสะดวก หลังจากนี้ ชาวบ้านทั้งสามตำบลก็จะเดินทางสัญจรบนสะพานแห่งเดิมได้โดยไม่ต้องระแวงว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อไร เพราะสะพานแห่งนี้กลับมาแข็งแรงและปลอดภัยดังเดิมแล้ว