จากแล้งสู่ล้น เจาะสาเหตุภัยพิบัติพร้อมวิธีรับมือน้ำท่วมและฝนแล้ง
หากคุณเป็นคนที่ติดตามเรื่องราวของ ‘สิงห์อาสา’ น่าจะจำได้ว่าช่วงกรกฎาคมจนถึงสิงหาคมที่ผ่านมา สิงห์อาสาลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านที่ประสบภัยแล้งในภาคอีสาน ทั้งที่มหาสารคามและสุรินทร์
ทว่าพริบตาเดียว พื้นที่ที่เคยประสบภัยแล้ง กลายเป็นพื้นที่ที่มีมวลน้ำไหลถล่มจนกลายเป็นอุทกภัย บางพื้นที่น้ำท่วมแค่ตาตุ่ม แต่หลายพื้นที่น้ำท่วมบ้านแทบมิดหลังคา อะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้
มาวิเคราะห์ปรากฎการณ์และมาดูวิธีป้องกันไปพร้อมกัน
สาเหตุของภัยแล้งเพราะฝนทิ้งช่วงไปนาน
ฝนทิ้งช่วงในช่วงฤดูฝนไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะทางกรมอุตุฯ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ‘ในช่วงฤดูฝน เดือนที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูงคือ เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม’ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทุกปีที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้
จากข้อมูลย้อนหลังในช่วงปี 2510-2536 เคยเกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่า 3 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – กันยายนเลยทีเดียว ขณะที่ในปีนี้ฝนทิ้งช่วงไปเพียงสองเดือนคือมิถุนายนและกรกฎาคม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นรอยต่อระหว่างหน้าร้อนและหน้าฝน จึงส่งผลให้ภาคอีสานต้องอยู่ในสภาวะแห้งแล้งเป็นเวลานานหลายเดือน ดังนั้นช่วงที่ผ่านมา เราเห็นข่าวว่าฝนทิ้งช่วงกลางหน้าฝนนั้น จึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้
น้ำท่วมเพราะพายุพัดถล่ม ที่เข้ามาไล่เลี่ยกัน 2 ลูก
หลังจากเกิดภัยแล้งช่วงปลายเดือนกรกฎาคมได้ไม่นาน ปรากฎว่าก็มีพายุพัดเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2 ลูก ลูกแรกคือ ‘วิภา’ ซึ่งทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่วิภาไม่ได้ทำให้เกิดภัยพิบัติได้เท่ากับพายุลูกที่สอง ‘โพดุล’
ซึ่งเจ้าพายุ โพดุล เป็นพายุโซนร้อน ที่อ่อนกำลังลงเป็นดีเพรสชั่น มีทั้งลมและฝนที่มาแบบจัดหนัก ศูนย์กลางอยู่ที่เวียดนาม และมุ่งหน้าเข้าสู่ภาคอีสานโดยตรง ก่อนกระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศทั้งเหนือ กลาง และใต้ เจ้าพายุโพดุล นั้นมีความรุนแรงกว่า พายุวิภา เป็นอย่างมาก จนส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในภาคอีสาน ภาคเหนือหลายจังหวัด
ตามพยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯ แจ้งว่า พายุโพดุล จะเข้าไทยถึงต้นเดือนกันยายน แต่กว่าสถานการณ์จะคลี่คลายก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองอาทิตย์ และยังมีรายงานข่าวว่าจะมีพายุอีกลูกกำลังจะเข้ามาเช่นกัน
โดยเจ้าพายุที่กำลังจะมานั้นมีชื่อว่า ‘คาจิกิ’ ซึ่งหลังจากนี้ชาวบ้านก็จะต้องเตรียมรับมือกับพายุลูกต่อไปกันต่อ
พนังกั้นน้ำแตก เพราะรับมวลน้ำไม่ไหว
โดยปกติน้ำจำนวนมากที่อยู่ในเขื่อนจะถูกกั้นโดย ‘พนังกั้นน้ำ’ ซึ่งสร้างไว้เพื่อรองรับและกักน้ำเพื่อกันน้ำท่วม ซึ่งพนังกั้นน้ำจะมีทั้งรูปแบบของคันดิน คอนกรีต หรือพื้นถนนที่ยกสูง ซึ่งจะกั้นน้ำได้ค่อนข้างแข็งแรง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากน้ำที่ไหลทะลักมาจากทุกสารทิศ ทั้งน้ำที่มาจากป่า รวมถึงคลองธรรมชาติมากเกินกว่าจะรับไหว สุดท้ายเมื่อพนังกันน้ำแตก น้ำจำนวนมหาศาลก็ไหลทะลักจนเข้าท่วมในพื้นที่ของชาวบ้านอย่างที่เห็นในข่าว
ซึ่งหลายพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากพนังกั้นน้ำที่รับไม่ไหวจึงแตก และน้ำได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในระแวกใกล้เคียงอย่างฉับพลับทำให้ชาวบ้านหลายรายไม่ทันตั้งตัวจากเหตุการณ์นี้
น้ำเยอะแต่ไม่เข้าเขื่อน อาจมีโอกาสแล้งได้อีก
อาจจะเห็นว่าตอนนี้หลายพื้นที่มีน้ำเยอะมาก และเข้าใจว่าหลังจากนี้คงมีน้ำเพียงพอไว้ใช้ แต่ทว่าจริง ๆ แล้ว น้ำที่เห็นนั้นกลับไม่ได้ไหลเข้าเขื่อนเลย เนื่องจากฝนที่ตกลงมาไม่ได้ตกที่เหนือเขื่อน จากข้อมูลล่าสุดสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่าง ๆ ในภาคอีสานยังมีปริมาณที่น้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง หรือเขื่อนจุฬาภรณ์ น้ำอยู่ในระดับที่น้อยมาก จนอาจจะเกิดวิกฤติในหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งบางเขื่อนมีน้ำแค่ 11% ของความจุเขื่อน และเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วภาคอีสานรวมกัน และน้ำในเขื่อนทั่วภาคเหนือรวมแล้ว กลับมีค่าเฉลี่ยอยู่แค่ 41% ของความจุเขื่อนทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งตามข้อมูลล่าสุดที่กล่าวมา เราสามารถพยากรณ์เบื้องต้นได้เลยว่าจะมีโอกาสที่จะเกิดภัยแล้งได้อีก ถ้ายังไม่มีน้ำมาเติมในเขื่อนจนได้ปริมาณที่เพียงพอก่อนจะหมดฤดูฝนปีนี้
วิธีแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่ทุกคนต้องช่วยกัน
สำหรับวิธีแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมก็คือเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรทางน้ำให้พอดี แม้ธรรมชาติจะคาดเดาได้ยากแต่หากมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าก็มีโอกาสที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ เช่น
⁃ ขุดลอกคูคลองเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำ
⁃ จัดสรรทรัพยากรน้ำในอ่างเก็บน้ำในหมู่บ้านให้เพียงพอทั้งช่วงหน้าแล้งและหน้าฝน
⁃ สร้างฝายชะลอน้ำ หรือพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่ม
⁃ ช่วยกันรักษาป่าเพื่อเป็นด่านในการชะลอน้ำป่า
จะเห็นได้ว่าวิธีป้องกันภัยพิบัตินั้นไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งตัวแทนของรัฐ และชาวบ้านที่ต้องช่วยกัน การบริหารทรัพย์กรน้ำเป็นหน้าที่ของรัฐ ส่วนการช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติเป็นหน้าที่ของทุกคน เมื่อทุกฝ่ายช่วยกัน อนาคตปัญหาก็จะค่อย ๆ หมดไปทั้งภัยแล้ง และภัย (น้ำ) ล้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
– https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=71
– http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html
– https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2851315
– https://www.tmd.go.th/7-day_forecast.php
– https://workpointnews.com/2019/09/01/fflood-north/