‘หมอบุญรอด’ คือคำพูดติดปากที่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลมักใช้เรียกนายแพทย์อนันต์ สุวัฒนวิโรจน์ เพราะนอกจากบทบาทนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ (นพ.ระดับ 11) ของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขแล้ว เขายังเป็นคุณหมอคนแรกที่อาสามาเข้าร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี คุณหมอได้เดินทางไปหลายจังหวัด เพื่อให้การรักษาชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล และให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ต่าง ๆ ตลอดจนมอบความรู้ด้านสุขภาพให้กับชาวบ้านต่อเนื่องมานานกว่า 32 ปี

คุณหมอเน้นย้ำเสมอว่า การพัฒนาสุขภาพของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลไม่ใช่แค่การเข้าไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่เป็นการค้นหาต้นตอของปัญหาและดำเนินการแก้ไขอย่างถูกจุด เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจที่มาที่ไปของโรคต่างๆ และสามารถป้องกันโรคภัยเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง

และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งจากประสบการณ์กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ที่คุณหมอได้ถ่ายทอดให้เราได้รับรู้กัน

สร้างประโยชน์แก่ชุมชนและประเทศชาติด้วยความสามารถและแรงกาย

หากพูดถึงภารกิจสำคัญของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี “โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่” ถือว่าเป็นโครงการแรก ๆ ที่ควรกล่าวถึงอย่างแน่นอน เพราะเป็นภารกิจที่มูลนิธิฯ เข้าไปร่วมมือกับทีมแพทย์อาสาในแขนงต่าง ๆ เพื่อเดินทางไปดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยเบื้องต้น ตลอดจนให้คำแนะนำด้านสุขภาพอนามัยแก่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล

โดยนายแพทย์อนันต์ สุวัฒนวิโรจน์ เป็นคุณหมอคนแรกที่ยินดีเข้าร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี อย่างไม่ลังเลใจ เขาจบการศึกษาจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ. 2505 ตำแหน่งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ (นพ. ระดับ 11) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

“เนื่องจากตัวผมเองเป็นหมอผ่าตัด ก็คำนึงถึงว่า การผ่าตัดแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักหลายแสน แต่สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เขาไม่มีรายได้มากพอที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลแบบนี้ได้ พอทราบว่าทางมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีมีหน่วยแพทย์อาสาเพื่อช่วยเหลือชุมชนจึงตัดสินเข้าร่วม โดยหวังใช้แรงกายและความสามารถของเราสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น”

ไม่ใช่แค่รักษา แต่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ครั้งแรกที่ลงพื้นที่กับหน่วยแพทย์อาสาคุณหมอได้เดินทางไปที่ตำบลแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อได้ตรวจชาวบ้านจึงทราบถึงปัญหาด้านสุขภาพที่ชาวบ้านต้องเผชิญ อย่างเช่น โรคพยาธิ โรคต่อมไทรอยด์ โรคกระเพราะอาหาร อาการปวดข้อ ปวดเข่า และโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ

“การลงพื้นที่ครั้งแรกเราไม่ได้คิดแค่ว่าจะไปช่วยเหลือ แต่คิดกันว่า เราจะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนนั้นได้อย่างไร” คุณหมอพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง โดยย้ำว่าในการลงพื้นที่ทุกครั้ง ทีมแพทย์ต้องหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยของคนในพื้นที่ให้ได้ เพื่อที่จะรักษาให้ตรงจุด และให้ความรู้กับชาวบ้านในการป้องกันโรคที่เกิดขึ้นได้

“อย่างในชุมชนแรกที่เราไป พบว่าชาวบ้านมีโรคพยาธิ ทั้งตัวแบน ตัวกลม ตัวตืด และเส้นด้าย ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ เราก็เอายาถ่ายพยาธิไปให้ทั้งหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านถ่าย เราก็ให้เขาเก็บอุจจาระไว้ในถุงดำ เพื่อเอามาร่อนหาและชี้ให้เห็นเลยว่า พยาธิมันหน้าตาเป็นอย่างนี้นะ เขาถึงได้อ่อนเพลีย มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งยังให้การศึกษาว่าเป็นเพราะเขากินของดิบ จึงทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น”

หมอบุญรอด ’ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างครบวงจร

เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่การไปรักษาเท่านั้น แต่เป็นการแก้ไขปัญหาสุขภาพของชาวบ้านตั้งแต่ต้นเหตุ คุณหมอและทีมแพทย์จึงให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านสุขอนามัยต่าง ๆ กับชาวบ้านอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

“อย่างเรื่องพยาธิ ทีมแพทย์ของเราไม่ได้ไปแจกยาถ่ายเท่านั้น แต่ทำให้ครบวงจรโดยการสร้างห้องน้ำให้ชาวบ้านด้วย เนื่องจากเมื่อก่อนชาวบ้านไม่มีส้วมเพื่อถ่ายเป็นที่เป็นทาง ส่วนใหญ่ก็ไปถ่ายตามไร่ แล้วพยาธิพวกนี้ก็ไปเติบโตในไร่ ติดต่อกันเป็นวงจร ทำให้โรคนี้ไม่หายขาดสักที”

ทุกครั้งที่คุณหมอและทีมแพทย์ลงพื้นที่ พวกเขามีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นสัมผัสได้ถึงความจริงใจที่อยากจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้พวกเขา ก่อให้เกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมแพทย์กับชุมชน จนชาวบ้านเรียกคุณหมอและทีมแพทย์อย่างติดปากว่า ‘หมอบุญรอด’

ความสุขของการเป็นผู้ให้

อย่างที่เรารู้กันดีว่า อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องทำงานในโรงพยาบาลหลายชั่วโมงต่อวัน แต่นายแพทย์อนันต์ก็ยังสละเวลาส่วนตัวเพื่อมาช่วยเหลือสังคม จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดลใจให้ทำงานแพทย์อาสาอย่างต่อเนื่องมาถึง 32 ปี และคำตอบที่ได้รับนั่นคือ ความสุข

“ส่วนหนึ่งคือมันเป็นความสุขที่ได้ช่วยชาวบ้านได้จริง ๆ และด้วยความที่ผมเป็นหมอเฉพาะทางมาก ๆ โอกาสที่จะได้ลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อไปเจอคนไข้นั้นแทบไม่มีเลย” โดยคุณหมอยังเล่าให้ฟังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ในเมืองค่อนข้างห่างเหินเพราะวิถีชีวิตของคนในเมืองค่อนข้างเร่งรีบจึงมีเวลาไม่มากในการมาพบแพทย์เมื่อตรวจเสร็จก็ต้องรีบไปทำงานต่อ แต่เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปรักษาผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ผู้คนยังคงมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับแพทย์อยู่ ยังมีโอกาสพูดคุยถามไถ่เรื่องต่าง ๆ นอกเหนือจากความเจ็บป่วยได้ “ชาวบ้านที่ได้รับการตรวจก็ดีใจ เราเองก็มีความสุข”

นอกจากนี้บรรยากาศในทีมแพทย์อาสาที่ทุกคนพร้อมใจกันทำเพื่อสังคม ยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้พวกเขากลับมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเสมอเมื่อมีเวลาว่าง “ทุกคนในทีมเต็มใจมาช่วยด้วยใจอย่างเต็มที่ ไม่มีค่าจ้าง บางคนต้องเสียรายได้ด้วยซ้ำ แต่ก็เต็มใจมากัน เป็นเรื่องที่ผมประทับใจมาก ๆ”

ด้วยเวลาที่ผ่านมาถึง 32 ปี คุณหมอเห็นความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในฐานะแพทย์อาสา

“ผมภูมิใจมากที่ได้เห็นชุมชนมากมายพัฒนาขึ้นจริง ๆ ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ก่อนเราเห็นคนไข้ยากจน โดยเฉพาะชาวเขา แต่ปัจจุบันเขามีโภชนาการและการศึกษาที่ดีขึ้น ถนนก็ได้รับการพัฒนา จากลูกรังก็เริ่มลาดยาง ทำให้ระบบสาธารณสุขลงไปในหมู่บ้านเล็ก ๆ มากขึ้น ทางรัฐเองก็ช่วยพัฒนาด้วย ทุกอย่างจึงเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ”

ความสุขในการช่วยเหลือผู้อื่นและการได้เห็นชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่เขากลับไป เป็นเสมือนแรงผลักดันที่ทำให้นายแพทย์อนันต์ยังคงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสังคมต่อไปในอนาคต เพราะสุดท้ายแล้วเชื่อว่าการได้ใช้ความสามารถของตนเองในการพัฒนาสังคมและช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสจะทำให้ประเทศของเราก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างแท้จริง