ชีวิตที่เกือบไปไม่ถึงฝั่งฝัน

มายด์เป็นเด็กสาวที่เติบโตมาในครอบครัวใหญ่ มีทั้งพ่อ แม่ พี่ และญาติผู้ใหญ่ อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เดิมนั้นรายได้หลักของบ้านคือ ธุรกิจซื้อขายของเก่าของคุณพ่อเธอ ซึ่งเป็นกิจการที่สร้างฐานะ และพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ดีให้ทุกคนในครอบครัว แต่ขึ้นชื่อว่าธุรกิจก็ย่อมมีขึ้นและมีลง เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ธุรกิจทั่วประเทศก็ซบเซาลงไปด้วย ซึ่งกิจการของคุณพ่อของมายด์นั้นเป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

“แต่แรกเลยบ้านของเราทำธุรกิจค้าขายของเก่า ซึ่งต้องถือว่าสร้างรายได้และฐานะให้ครอบครัวได้ดีระดับหนึ่ง แต่ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายของร้านซบเซาลงมากจนทำให้ที่บ้านเริ่มประสบปัญหาด้านการเงิน ในที่สุดคุณพ่อก็ตัดสินใจล้มเลิกกิจการและขายอุปกรณ์เครื่องจักรของธุรกิจออกไปจนหมด รายได้หลักของที่บ้านก็หายไปพร้อมกับกิจการนี้ ทำให้เหลือแค่คุณแม่ที่ยังทำงานหาเงินเข้าบ้านอยู่คนเดียว”

ในช่วงเวลาเดียวกัน เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ญาติผู้ใหญ่ของมายด์คือ คุณย่าและคุณตาก็ล้มป่วยลงในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้รายจ่ายของครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลง วิกฤตนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ของครอบครัว ซึ่งรวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของตัวมายด์และพี่ของเธอ

“พอคุณย่าป่วยค่าใช้จ่ายของที่บ้านก็ต้องแบ่งออกมาเป็นค่ารักษาพยาบาล อีกสองเดือนต่อมาคุณตาก็ล้มป่วยลงติดๆ กันอีก ทำให้การเงินเข้าขั้นวิกฤตทันที ครอบครัวต้องเอาที่ดินไปจำนองเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งรวมถึงค่าเทอมของเราและพี่ที่กำลังเรียนปีสี่อยู่ด้วย

“ช่วงที่เรากำลังขึ้นมหาวิทยาลัยปีสอง เลยตัดสินใจเดินเข้าไปปรึกษาอาจารย์เพื่อจะขอดร็อปเรียน เพราะเรารู้สึกว่าที่บ้านส่งเรากับพี่พร้อมกันไม่ไหวแล้ว เราเลยอยากหยุดเรียนเพื่อช่วยเขาลดภาระ”

ทุนบุญรอดฯ ที่ช่วยให้รอด

ตลอดชีวิตนักศึกษาปี 1 ของมายด์ เธอไม่เคยบกพร่องด้านการเรียน เกรดเฉลี่ยสะสมตลอด 2 เทอมแรกของเธอคือ 3.67 และขณะเดียวกันมายด์ก็มีชีวิตอีกด้านเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง เธอทำทั้งงานจิตอาสา งานคณะ และงานของมหาวิทยาลัย ทำให้มีโอกาสได้รู้จักคนหลากหลาย เมื่อชีวิตเจอกับปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ คนรอบตัวเธอจึงยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

“เมื่อพี่ๆ ที่รู้จักกันได้ยินข่าวว่าเราจะดร็อปเรียน เขาก็รีบยื่นมือเข้ามาช่วยทันที แต่ละคนไปตระเวนหาทุนฯ มาให้เราเยอะมาก จนเจอทุนบุญรอดพัฒนา นิสิต นักศึกษา ที่เรียกเราเข้าไปสัมภาษณ์ ซึ่งก่อนเดินทางไปสัมภาษณ์ เราก็ทำใจไว้แล้วว่าถ้าไม่ได้ทุนฯ นี้ก็คงไม่ได้เรียนต่อแน่ๆ เพราะตอนนั้นเรายังติดเงินค่าเทอมปีหนึ่งกับมหาวิทยาลัยอยู่เลย ทั้งๆ ที่เป็นช่วงการจ่ายเงินลงทะเบียนเรียนสำหรับปีสองแล้ว

“เราเล่าเรื่องการทำงานพิเศษให้คณะกรรมการผู้พิจารณาทุนฯ ฟัง ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษาการโรงแรมในวิทยาเขตเพชรบุรี ทำให้โรงแรมในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างหัวหินเปิดหาแรงงานนักศึกษาในคณะนี้ เราเลยมีโอกาสทำงานพิเศษในโรงแรม ซึ่งก็ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่พนักงานเสิร์ฟ พนักงานครัว จนถึงแม่บ้าน เริ่มงานตั้งแต่ห้าโมงเย็น จนกลับถึงหอพักช่วงตีหนึ่งตีสอง จากนั้นก็จะรีบเข้านอนเพื่อไปเรียนตอนแปดโมงเช้า ถึงรายได้จะไม่มากมาย แต่ก็ช่วยแบ่งเบาภาระการเงินของที่บ้านได้”

ท้ายที่สุดแล้ว ความจำเป็นในด้านการเงินของมายด์ก็ได้ประจักษ์ชัดต่อกรรมการผู้คัดเลือกทุกคน ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกว่าร้อยคนที่ได้รับทุนบุญรอดฯ ในปีนั้น แม้ทุนบุญรอดฯ ที่ได้มาจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของเธอเปลี่ยนไปด้วย มายด์ยังคงต้องทำงานพิเศษตลอดชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย อีกทั้งเมื่อขึ้นปี 3 เธอยังเปิดร้านค้าขายของออนไลน์เพิ่มเป็นอีกหนึ่งช่องทางการหารายได้เสริมด้วย

“ทุนบุญรอดฯ ช่วยพลิกชีวิตของเรา จากที่กำลังจะไม่ได้เรียนให้กลับมาเป็นเหมือนนักศึกษาปกติ เราเคยลองจินตนาการว่าถ้าหากไม่มีเงินทุนฯ ก้อนนี้ เราอาจจะยังเรียนไม่จบ หรือแม้แต่ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้เลยด้วยซ้ำ เราซาบซึ้งในความช่วยเหลือที่ทุนบุญรอดฯ มีให้เรา เพราะโอกาสที่เราได้รับมานี้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราไปในทางที่ดีขึ้นมาก

“เราสามารถลงทะเบียนเรียนต่อและสามารถเรียนจบพร้อมๆ กับเพื่อนคนอื่นได้ แต่ประเด็นคือค่าเทอมของเราค่อนข้างสูง เงินทุนฯ ก้อนนี้ช่วยชำระไปได้ในระดับหนึ่ง แต่อีกส่วนเราก็ต้องพยายามทำงานหารายได้พิเศษต่อไป เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรบกวนที่บ้านมากนัก โดยเฉพาะค่ากินอยู่ที่เราสามารถบริหารจัดการเองได้”

สานต่อการให้ที่ไม่รู้จบ

ความพิเศษของทุนบุญรอดพัฒนา นิสิต นักศึกษา คือเป็นทุนฯ ที่ให้เปล่าแบบต่อเนื่อง จนจบการศึกษาตามหลักสูตร โดยไม่ต้องใช้ทุนฯ คืน และไม่มีข้อผูกมัดใดๆ และที่พิเศษกว่านั้นคือ ในฐานะนักศึกษาทุนฯ ของมายด์ ทำให้เธอได้ส่งต่อ ‘การให้’ แก่ผู้อื่นด้วยการร่วมกิจกรรมกับทุนบุญรอดฯ

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่งจากการเข้าร่วมกิจกรรมของทุนบุญรอดฯ คือ เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เราได้รู้จักบทบาทของการเป็นผู้ให้ เช่น ให้ความสนุก ให้ความสุข และให้ความรู้ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ เพราะตัวเราเองรู้ว่าความสุขของการเป็นผู้รับเป็นอย่างไร เราจึงอยากจะเป็นผู้ให้ที่สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นดูบ้าง

“กิจกรรมในปีแรกที่เราได้เข้าร่วม คือกิจกรรมสร้างความสุขให้กับน้องๆ นักเรียน โรงเรียนพิจิตรปัญญานุกูล ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยมีกิจกรรมสันทนาการ และเลี้ยงอาหารกลางวัน ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานเฮฮา และน้องๆ ก็ดูมีความสุขมาก”

นอกจากนี้ มายด์ยังมีโอกาสเป็นวิทยากรสอนวิชาภาษาอังกฤษและจีนให้น้องๆ ระดับชั้น ป.1 – ป.6 ของโครงการ Singha Summer Camp ซึ่งเป็นโครงการค่ายเยาวชนฤดูร้อน ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 8 – 12 ปี ได้มาเรียนรู้และเสริมทักษะความรู้อย่างรอบด้านในช่วงปิดภาคเรียน

เรื่องราวของผู้ให้ไม่ได้จบลงแค่การให้เท่านั้น แต่มันยังเป็นการให้และได้รับบางอย่างกลับมาด้วย ระหว่างที่มายด์ได้สอนภาษาอังกฤษตลอดปิดเทอมของน้องๆ ที่เข้าร่วมค่ายฤดูร้อน เธอก็ได้พบนักเรียนที่ทำให้เธอภูมิใจกับการทำหน้าที่วิทยากรอาสา

“ตอนนั้นเราได้ไปสอนภาษาอังกฤษให้กับน้อง ป.6 ในห้องจะมีนักเรียนคนหนึ่งที่ค่อนข้างปิดกั้นการเรียนรู้ของตัวเอง คือไม่สนใจการสอนของเราเลย แต่เราก็ค่อยๆ ละลายพฤติกรรม และดึงเขาเข้ามาร่วมกิจกรรมในการเรียน จนเมื่อจบโครงการ น้องคนนี้ก็เขียนการ์ดมาให้เราบอกว่า ‘หนูขอบคุณพี่มากๆ นะคะ หนูจะตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษ หนูรักพี่นะ’ ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกภูมิใจมากๆ

“ทุนบุญรอดฯ ไม่เคยบังคับเราว่าจะต้องเป็นผู้ให้ แต่พอได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกทุนฯ แล้ว เราก็จะได้รับการหล่อหลอมให้เป็นผู้รับที่ดี แล้วจากนั้นเราก็จะสามารถพัฒนาบทบาทความสามารถและทัศนคติ จนกลายเป็นผู้ให้ที่ดีได้โดยปริยาย” มายด์กล่าวทิ้งท้ายในเรื่องการเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับมาเป็นผู้ให้ของเธอไว้อย่างน่าสนใจ

มากกว่าเงินทุน คือความเป็นครอบครัว

การได้รับทุนบุญรอดฯ นอกจากจะทำเป็นการสานต่อชีวิตการศึกษาให้กับมายด์ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ อย่าง ที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเธอด้วย เพราะสำหรับมายด์แล้ว การได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนักศึกษาทุนฯ ก็เหมือนกับการได้เข้ามาเป็นสมาชิกใน ‘ครอบครัวใหญ่’ ครอบครัวหนึ่ง

“สำหรับเรา ทุนบุญรอดฯ คือทุนที่ดีมาก เพราะอย่างแรกเลยคือ เงื่อนไขของทุนฯ ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เป็นทุนฯ ให้เปล่าที่พอเรียนจบแล้ว สามารถไปสมัครงานที่ตัวเองชอบได้เลย ไม่ต้องมาทำงานเพื่อใช้ทุนฯ สองคือ ทุนฯ นี้จะเป็นแรงผลักดันให้เราทำเกรดเฉลี่ยสูงเกิน 2.5 ทุกเทอม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับอนาคตอยู่แล้ว และข้อสุดท้ายคือ ทุนฯ นี้ทำให้เราได้มาเจอครอบครัว เจอกลุ่มคนที่เคยประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เกิดมาโชคร้ายคนเดียว ยังมีคนอีกมากที่สามารถผ่านเรื่องเหล่านี้ไปได้”

ความเป็นครอบครัวที่มายด์พูดถึง ไม่ได้จบลงหลังจากที่นักศึกษาทุนฯ จบการศึกษาไปแล้วหรือมีฐานะที่ดีขึ้น แต่มันเป็นสายใยที่ผูกพันคนในกลุ่มเอาไว้อย่างแน่นแฟ้น และหล่อหลอมนักศึกษาทุนฯ เหล่านี้ให้กลายเป็นผู้ให้ ที่วันหนึ่งเขาจะพร้อมหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้อื่นต่อไป

“ในอนาคตเราฝันอยากจะเปิดร้านคาเฟ่ขายกาแฟและเบเกอรี่สักแห่ง ซึ่งในร้านนี้เราอยากจะดึงพี่ๆ น้องๆ นักศึกษาทุนฯ ให้มาทำงานที่ร้านเรา เพราะตัวเราเองสมัยที่ทำงานพาร์ตไทม์ เราทำงานหนักแต่ได้รายได้น้อยมาก ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ เราเลยฝันว่าถ้าวันหนึ่งเราโตขึ้นไป เราจะมีคาเฟ่ที่สร้างรายได้ให้กับพี่ๆ น้องๆ นักศึกษาทุนฯ ในราคาที่สมเหตุผลสมผล เพราะพอเป็นคำว่าบุญรอดปุ๊บ หมายความว่าเราคือ ครอบครัวที่ต้องช่วยเหลือกันและดูแลกัน”