เด็กหญิงกับการวิ่งครั้งแรก
“ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองวิ่งเก่ง ไม่เคยคิดว่าจะติดทีมชาติ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะวิ่งได้ถึงจุดนี้” นี่คือความคิดก้อนแรกของโบว์เมื่อเริ่มต้นวิ่ง
โบว์เกิดและเติบโตที่พะเยา จังหวัดเล็กๆ ในภาคเหนือ พร้อมกับความผิดปกติด้านสายตา ที่แม้จะรักษามาเรื่อยๆ แต่อาการกลับแย่ลงจนทำให้สูญเสียการมองเห็นไปตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เธอต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำสำหรับผู้พิการทางสายตาที่จังหวัดลำปาง
เส้นทางการเป็นนักกีฬาของโบว์อาจเรียกได้ว่า ‘จับพลัดจับผลู’ ก็เป็นได้ เพราะเธอไม่เคยรู้ว่าตัวเองวิ่งเก่งมาก่อน จนกระทั่งคุณครูประจำชั้นชักชวนแกมบังคับให้ลงแข่งวิ่งในงานกีฬาสีโรงเรียน เมื่อได้รับชัยชนะครั้งแรก ก็มีครั้งต่อมา เธอจึงได้เข้าแข่งขันระดับภาคและค่อยๆ เลื่อนขั้นมาเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ
หากเปรียบชีวิตบนเส้นทางสายกรีฑาของโบว์เป็นการวิ่ง ก็คงเป็นการวิ่งเหยาะๆ ที่แม้จะช้าแต่กลับมั่นคง จากเด็กที่เคยรู้ว่าตัวเองวิ่งเก่ง วันนี้เธอกลายมาเป็นนักวิ่งทีมชาติไทยเต็มตัว
กายวิ่งไป มี ‘ความเชื่อใจ’ คอยนำทาง
หัวใจสำคัญของการเล่นกีฬาคือการฝึกซ้อม ขณะเก็บตัวเพื่อไปแข่งขัน โบว์จะต้องตื่นมาซ้อมทุกๆ เช้า เธอเล่าว่าวิธีการฝึกฝนของเหล่าผู้พิการทางสายตาเต็มไปด้วยอุปสรรคสุดโหดหินที่คนทั่วไปอาจไม่เคยรู้
“เวลาโค้ชสอน โบว์ต้องจินตนาการให้เห็นภาพได้มากที่สุด บางทีก็กดดันเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ได้แบบที่เขาต้องการ ต้องใช้ความพยายามสูง โบว์จะมุ่งมั่นกับจุดนี้มาก เมื่อมีโอกาสแล้ว นั่นเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ เวลาโบว์ทำไม่ได้จะเก็บมาคิดว่าต้องทำยังไงจนกว่าจะทำได้”
แม้การฝึกซ้อมจะแสนยากเย็น แต่อุปสรรคในการมองเห็นของนักวิ่งผู้พิการทางสายตาอย่างโบว์ ก็ได้รับการเยียวยาด้วยเพื่อนคู่ใจอย่าง ‘ไกด์รันเนอร์’ (Guide Runner) ที่นอกจากจะคอยอธิบายวิธีฝึกเป็นภาษาที่เธอเข้าใจง่ายแล้ว คนคนนี้จะยังคอยวิ่งข้างๆ และพาเธอเข้าเส้นชัยได้อย่างปลอดภัยทุกการแข่งขัน
โบว์สารภาพว่า แรกๆ ที่เริ่มวิ่ง เธอรู้สึกกลัวอยู่ลึกๆ เพราะเธอวิ่งไปในความมืดมิด ไม่อาจมองเห็นเส้นทางตรงหน้า แต่ตอนนี้เธอรู้แล้วว่าไกด์รันเนอร์จะเป็นผู้ที่พาเธอไปถึงจุดหมาย โบว์จึงเชื่อมาเสมอว่านอกจากความพยายามอันแรงกล้าของตัวเองแล้ว หนึ่งสิ่งที่นักวิ่งอย่างเธอต้องมีคือ ‘ความเชื่อใจ’ ที่มีต่อไกด์รันเนอร์ข้างกาย
“โบว์ไม่สามารถวิ่งได้ด้วยตัวเอง จะมีไกด์รันเนอร์เป็นสายตาให้ คอยวิ่งประคองอยู่ข้างๆ เวลาแข่งเขาต้องวิ่งไปกับโบว์ด้วย เราจะวิ่งไปด้วยกันได้ต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โบว์ต้องคิดว่าเขาจะพาโบว์ไปถึงจุดหมาย ทุกวันนี้โบว์ไม่มีความกลัวอะไรแล้ว เพราะตั้งแต่วิ่งมายังไม่เคยล้มเลย ความกลัวมันหายไปหมดแล้ว”
เมื่อความพยายามผลิดอกออกผล
13.12 เป็นตัวเลขที่โบว์จะจดจำไปตลอดกาล นั่นคือความสำเร็จบนเส้นทางนักวิ่งที่โบว์ภูมิใจมากที่สุด
ในสนามอาเซียนพาราเกมส์ที่สิงคโปร์ เธอเอาชนะผู้เข้าแข่งขันคนอื่นด้วยเวลา 13.12 นาที นอกจากจะเป็นการทำลายสถิติของประเทศแล้ว เธอยังทุบสถิติของอาเซียนได้อย่างขาดลอยอีกด้วย
“เป็นแมตช์ที่รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงที่สุด ไม่เคยดีใจขนาดนี้ตั้งแต่เล่นกีฬามา เป็นครั้งแรกที่ทำลายสถิติของประเทศไทย ทำลายสถิติของอาเซียน เป็นเวลาที่ตัวเองไม่เคยทำได้” โบว์เล่าด้วยน้ำเสียงสดใส
เหตุผลที่ทำให้นักวิ่งสาวคนนี้ยังอยากลุกมาสวมรองเท้าและวิ่งต่อไปเรื่อยๆ คือความท้าทาย แต่ละครั้งที่วิ่ง เธอไม่ได้แข่งกับหญิงสาวลู่ข้างๆ แต่กำลังแข่งขันกับตัวเธอเอง
“ความท้าทายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โบว์เคยทำสถิติไว้แค่ไหนก็อยากจะทำลายสถิติของตัวเอง อยากทำให้ดีกว่าเดิม มันท้าทายกับตัวเองมากกว่าว่าจะทำได้ดีกว่าเดิมไหม ทำสถิติตัวเองให้ดีขึ้นได้ไหม โบว์ไม่มีไอดอล หรืออยากจะวิ่งได้เหมือนใคร มีแต่พยายามจะเอาชนะใจตัวเองให้ได้ โบว์ไม่ชอบการเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบ มากดดันตัวเอง แค่คิดว่าไม่ต้องแข่งกับใคร และเอาชนะใจตัวเองให้ได้ก็พอ”
บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร แล้วสู้ให้ถึงที่สุด
ความฝันของโบว์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อเธอก้าวเข้ามาในโลกของนักวิ่ง
‘พาราลิมปิก’ เป็นความฝันสูงสุดของโบว์และนักกีฬาผู้พิการหลายๆ คน เธอหวังว่าจะได้ร่วมแข่งขันในกีฬาอันทรงเกียรตินี้สักครั้ง และวันนี้เธอมาเยือนสนามนี้ที่ริโอ เดอ จาเนโร ได้สำเร็จ
แม้ในการแข่งครั้งนั้นจะเกิดอุปสรรคครั้งใหญ่หลวงกับร่างกายของเธอ แต่โบว์ก็พร่ำบอกตัวเองเสมอว่า ไม่เป็นไร แล้วทำให้ดีที่สุด
“ก่อนไปแข่ง กล้ามเนื้อฉีกจนเดินไม่ได้ไปสองอาทิตย์ ตอนนั้นหมดหวัง ท้อมาก แต่ก็ต้องพยายามลุกให้ได้ พยายามรักษาตัวเองให้ดีที่สุด บอกกับตัวเองตลอดว่าไม่เป็นไร สู้ให้ได้มากที่สุด จนไปถึงรอบเซมิไฟนอล แปดคนสุดท้าย ความฝันสูงสุดของนักกีฬาพาราหลายคน คือ พาราลิมปิกเกมส์ โบว์เคยหวังไว้ว่าจะไปถึงจุดนั้นให้ได้ ตอนนี้ก็มาถึงแล้ว โบว์เลยหวังอีกว่าครั้งหน้าจะต้องทำเหรียญให้ได้”
โบว์พักรักษาตัวอยู่ 1 ปีเต็มก่อนจะกลับมาวิ่งอีกครั้งเมื่ออาการป่วยทุเลาลง เธอคืนสู่สนามอีกครั้งในการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 9 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นอกจากจะกวาด 3 เหรียญทองมาครองแล้ว ในปีนั้นเธอยังได้รับเกียรติให้ถือธงชาตินำทัพนักกีฬาชาวไทยเข้าสู่สนามอีกด้วย
ความมั่นใจของโบว์กลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง ดอกไม้ที่ชื่อว่า ‘ความหวัง’ กำลังผลิบานสะพรั่งอยู่ในหัวใจของนักวิ่งหญิงคนนี้
เพราะ ‘เรา’ จะวิ่งไปด้วยกัน
หยาดเหงื่อ น้ำตา ความพ่ายแพ้ และชัยชนะทั้งหมดที่เกิดขึ้น หล่อหลอมให้ผู้หญิงที่ชื่อ ‘เกวลิน’ เป็นนักวิ่งที่แข็งแกร่งอย่างในทุกวันนี้
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยเหล่านั้นเลย คือ ‘กำลังใจจากคนรอบข้าง’ เพราะบนลู่วิ่งสายยาวนั้น เธอไม่ได้วิ่งอยู่คนเดียว แต่มีหลายๆ คนที่วิ่งไปพร้อมกับเธอด้วย ไม่ว่าจะเป็นโค้ช พี่ๆ ไกด์รันเนอร์ เพื่อนๆ และอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
“สิงห์ไม่เคยทิ้งโบว์เลย มากกว่าการสนับสนุน คือ กำลังใจ ครั้งหนึ่งที่โบว์ประทับใจมากคือตอนไปแข่งที่เกาหลีใต้ โบว์วิ่งห้าโมงเย็น ซึ่งตรงกับเวลาที่คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี จะต้องบินกลับไทยพอดี แต่คุณจุตินันท์เลื่อนไฟลต์แล้วมาดูโบว์แข่ง โบว์ดีใจมากที่เขาให้ความสำคัญกับเรา” ความปีติในหัวใจของโบว์เผยออกมาผ่านเสียงของเธอ
‘สิงห์’ เป็นเหมือนใครสักคนที่จับมือกับโบว์แล้ววิ่งไปพร้อมๆ กัน เพราะนอกจากกำลังใจแล้ว สิงห์ให้ความสำคัญกับเหล่านักกีฬาเสมอทั้งกำลังใจ และทุนในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เก็บตัว ฝึกซ้อม จนถึงวันแข่งขันนั่นเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เธอวิ่งไปได้อย่างมั่นคง
“โบว์ดิ้นรนด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เมื่อสิงห์ช่วยโบว์ด้วยการเปิดรับให้เป็นหนึ่งในพนักงานของสิงห์ จึงเป็นเหมือนกำลังใจอีกทางหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้โบว์มีรายได้เฉพาะตอนไปแข่ง ซึ่งถ้าไม่ได้ไปแข่งก็จะไม่มีอะไรมาหล่อเลี้ยงเลย
“การสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือนสำหรับนักกีฬาคนพิการจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะพวกเราส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ และยังมีช่วงที่ต้องหยุดพักเพื่อรอแข่งขัน ซึ่งจะเป็นช่วงไม่มีรายได้ โบว์ไม่ได้ตัวคนเดียว แต่ยังมีครอบครัวให้ดูแล หากโบว์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิงห์อาจไม่ได้มาถึงจุดนี้ อาจต้องเลิกเล่นกีฬาไป”
มีเด็กๆ มากมายที่อยากจะเดินบนเส้นทางเดียวกับโบว์ เธอมองว่าหากมีความฝันก็ต้องมุ่งมั่นทำให้เต็มที่ แม้อุปสรรคจะมากมาย แต่โบว์เชื่อมั่นว่าจะต้องมีใครสักคนเห็นความตั้งใจ และพร้อมจะจับมือวิ่งไปด้วยกัน
เกวลินในวันนี้
จากวันแรกที่เธอสวมรองเท้าแล้วเริ่มวิ่ง แม้โบว์จะเติบโตขึ้น แต่หนึ่งสิ่งที่ยังเหมือนเดิม และยังคงเปล่งประกายอยู่ในตัวของนักวิ่งทีมชาติหญิงวัย 25 ปีคนนี้ คือ ‘ความมุ่งมั่น’
โบว์ไม่เคยยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ เธอบอกว่า นั่นคงเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เธอก้าวมาถึงจุดนี้ได้ แม้ว่าเธอจะมองไม่เห็น แต่ก็ไม่เคยคิดว่านั่นจะเป็นกำแพงที่ขวางไม่ให้เธอทำในสิ่งที่รักได้
โบว์ทิ้งท้ายอย่างเรียบง่ายว่า
“ทุกคนสามารถทำอะไรได้หมดทุกอย่างถ้าคิดจะลองทำ การวิ่งไปโดยไม่เห็นทางข้างหน้ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะถึงจะมองไม่เห็นแต่ก็ยังมีคนที่พร้อมจะพาโบว์ไป ถ้ามีฝัน ให้ขยันซ้อม มุ่งมั่นในหน้าที่ของตัวเอง และตั้งใจ เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีเอง โบว์คิดเสมอว่าถ้าเรามีเป้าหมาย เราก็มุ่งมั่นในสิ่งนั้น เดี๋ยวทุกอย่างก็จะสำเร็จเอง”