เสียงสะท้อนจากผู้ประสบภัยแล้ง ที่ต่างกล่าวขานกันว่า “หนักที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา”
เป็นเวลามากกว่า 3 เดือนที่ภัยแล้งมาเยือน บ้านโคกแปะ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ความทรมานในหัวใจจากภัยธรรมชาติ ที่คนในเมืองมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก แต่สำหรับชาวบ้านที่นี่ ภัยแล้งที่พวกเขากำลังประสบถือเป็นความยากลำบากและสร้างความทุกข์ให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านที่นี่ทำนาเป็นอาชีพหลัก ซึ่งเป็นรายได้ที่ต้องหล่อเลี้ยงอีกหลายชีวิตในครอบครัว พวกเขาต้องพึ่งพาน้ำในการเพาะปลูก ยังไม่นับรวมวัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้สำหรับช่วยทำนา พวกมันกำลังจะล้มตายเพราะขาดน้ำ นับว่าเหตุการณ์ที่วิกฤติเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับชาวบ้านที่นี่ ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงมันไปได้
‘น้ำ’ คือปัจจัยอันดับหนึ่งของพวกเขา ขาดน้ำทุกอย่างก็จบ..
“ตั้งแต่ตาเกิดมาจนอายุ 75 ปี มันก็มีปีนี้แหล่ะลูกเอ้ย ที่ลำบากที่สุด”
คุณตาฮวด คุณพิพัฒน์ ชาวบ้านในหมู่บ้าน บ้านโคกแปะ วัย 75 ปี พูดออกมาประโยคแรกด้วยน้ำตาที่คลอเบ้า หลังจากถามถึงสถานการณ์ที่คุณตากำลังเผชิญมากว่า 3 เดือน
“น้ำในหมู่บ้านหมดตั้งแต่เดือนเมษายน ฝนก็ไม่ตกมาหลายเดือน น้ำจะกินก็ไม่มี ต้องหาซื้อมากินเอง วัวควายที่เลี้ยงไว้ ก็แย่เพราะไม่มีน้ำจะให้กิน ก่อนหน้านี้ก็จะมีทางการนำน้ำเข้ามาแจก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะคนในหมู่บ้านมีเยอะต้องแบ่ง ๆ กัน ดีใจที่ลูก ๆ หลาน ๆ เข้ามาช่วยเหลือในวันนี้ ขอบคุณทุกคนจริง ๆ”
ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของคุณตาฮวด ที่เห็นขบวนรถขนน้ำมาช่วยบรรเทาทุกข์ให้ชาวบ้าน และน้อง ๆ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาที่มาช่วยกันลงพื้นที่แจกจ่ายน้ำ ทำให้รู้สึกตื้นตันใจที่คนภายนอกรับรู้ถึงความเดือดร้อนและเข้ามาช่วยบรรเทาทุกข์จากภัยแล้งในครั้งนี้
แหล่งน้ำส่วนกลางของหมู่บ้านแห้งตั้งแต่เดือนเมษายน!! ชาวบ้านต้องซื้อน้ำจากที่อื่นเพื่อประทังชีวิต
“ครั้งหนึ่งในชีวิตของยายไม่เคยคิดว่าจะทุกข์ใจทุกกาย กับเรื่องภัยแล้งได้ขนาดนี้ เพราะตั้งแต่เกิดมา ยายผ่านความยากลำบากมาเยอะ แต่ไม่คิดไม่ฝันว่าวันนี้จะต้องมาเจอกับภัยแล้งแบบแสนสาหัสขนาดนี้ หนองน้ำไม่มีน้ำมาตั้งแต่เดือนเมษายน, น้ำกินน้ำใช้หมดตั้งแต่เดือนมิถุนายน, วัวควายที่เลี้ยงก็แทบจะไม่มีน้ำกินเพราะคลองส่งน้ำ มันแห้งเหือดไปหมด”
บทสนทนาแรกจากปากของ คุณยายทองพันธ์ กงจันทร์ดา ในวัย 67 ปี ทันทีที่เอ่ยถามถึงความยากลำบากของภัยแล้วในปีนี้
ความทุกข์ที่ส่งผ่านทางสายตาและทุกถ้อยคำที่ออกมา จากคุณยายทองพันธ์ สัมผัสได้ถึงเรื่องราวที่อยู่ในใจ รวมไปถึงความรู้สึกท้อแท้ไม่น้อย ที่เกิดภัยธรรมชาติในหมู่บ้านนี้
คุณยายทองพันธ์ เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเป็นภาษาอีสานว่า “โอ๊ยยยยย บักหล่า มันแล้งคักแฮงปีนี้ ข้าวในนากะสิตาย น้ำซิอาบซิกินกะต้องซื้อเขาเบิด” นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี 2562!
เมื่อน้ำที่กักตุนไว้หมด ก็ต้องจำใจซื้อน้ำจากที่อื่นในราคาที่ค่อนข้างแพงและต้องรอรถน้ำเข้ามาส่ง โดยรถน้ำจะเข้ามาส่งแต่ละครั้งต้องรอ 3-5 วัน ถ้าหากน้ำที่ซื้อเก็บไว้หมดก็ต้องไปขอยืมเพื่อนบ้านข้างเคียง และอีกปัญหาที่พบคือความสะอาดของน้ำที่ชาวบ้านซื้อ เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพหรือไม่ แต่ก็ต้องซื้อไว้เพื่อดื่มกินประทังชีวิต ให้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ให้ได้
ข้าวในนากำลังยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ชาวบ้านอาจไม่มีข้าวขาย ทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้น
หลังจากได้พูดคุยกับชาวบ้านหลาย ๆ คน นอกจากเรื่องน้ำสำหรับไว้ใช้บริโภคไม่เพียงพอเป็นเรื่องหลักแล้ว เรื่องการทำนาก็เป็นปัญหาใหญ่ของชาวบ้าน เพราะข้าวในนาส่วนใหญ่กำลังยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ชาวบ้านที่ต้องกู้เงินมาลงทุนปลูกข้าวต่างพากันเครียด เพราะกลัวว่าจะไม่มีข้าวมาขาย ทำให้พวกเขาต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวให้แย่ลงกว่าเดิม
ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น เหล่าบรรดาวัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ช่วยไถนาก็กำลังจะพากันล้มตายเพราะขาดน้ำ และถ้าวัวควายเหล่านี้ตายก็จะส่งผลต่อการเพาะปลูกในครั้งต่อไป เพราะชาวบ้านต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพื่อหาซื้อวัวควายมาช่วยไถนา และนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้สินที่ไม่รู้จบของชาวบ้านที่นี่
คาราวานน้ำใจและกำลังใจจากคนภายนอก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
กำลังใจจากลูก ๆ หลาน ๆ นักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา 6 มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มาลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน พร้อมกับคาราวานรถขนน้ำกว่า 20,000 ลิตร ที่มาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน บ้านโคกแปะ กว่า 200 ครัวเรือน ซึ่งน้อง ๆ นักศึกษาสมัครใจเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านทันทีเมื่อทราบข่าว
หลังจากชาวบ้านได้น้ำสะอาดไว้ดื่มกินครบทุกครอบครัวแล้ว ก็ยังมี ‘ธนาคารน้ำสิงห์’ ซึ่งเป็นแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ที่มีความจุ 2,000 ลิตร จำนวน 4 แท็งก์ ไปติดตั้งในพื้นที่ส่วนกลาง ให้ชาวบ้านได้มีน้ำกินน้ำใช้ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ปัญหาภัยแล้งตลอดช่วงประสบภัยในครั้งนี้
โดยสิงห์อาสาและน้อง ๆ นักศึกษาข่ายสิงห์อาสา หวังว่ากำลังใจที่เข้ามามอบให้ชาวบ้านในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาทุกข์และสร้างรอยยิ้มให้ชาวบ้านได้ต่อสู้กับภัยธรรมชาติในครั้งนี้