จากวอลเลย์บอลสู่ตะกร้อ
ชีวิตการเป็นนักกีฬาของเปิ้ลเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก เธอเล่าว่า เธอชอบเล่นกีฬาตั้งแต่วัยประถม ทั้งกรีฑา ฟุตบอล และวอลเลย์บอล โดยเฉพาะในช่วงวัยประถมที่ชอบดูวอลเลย์บอลมาก มีโอกาสได้เข้าไปฝึกซ้อมในทีมของโรงเรียน ได้ร่วมทีมเพื่อไปแข่งระดับอำเภอ และคว้าแชมป์ในระดับประถม แต่ในวัยนั้นเปิ้ลยังมองไม่เห็นอนาคตของการเป็นนักกีฬาอาชีพ จนกระทั่งอาจารย์ผู้ฝึกซ้อมประจำทีมวอลเลย์บอลได้ชี้ทางสว่างในอนาคตให้
“ก่อนจะเรียนจบป.6 อาจารย์ที่ชวนมาซ้อมวอลเลย์บอลก็แนะนำให้เราไปเรียนต่อที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี เพราะตอนนั้นโรงเรียนมีทุนการศึกษาและเขาเห็นว่าเราเล่นวอลเลย์บอลได้ดี เราก็กลับบ้านไปถามพ่อแม่ว่า เราไปดีไหม ตอนนั้นเราไม่ได้วางแผนอนาคตเรื่องการเรียนไว้เลย เพราะเรารู้ว่าครอบครัวเราไม่ค่อยมีทุนทรัพย์ ถ้าเรามีโอกาสได้ไปเรียนโรงเรียนกีฬาและได้ทุนการศึกษาก็คงดี”
แต่เมื่อถึงวันสอบ ชีวิตไม่ได้เป็นไปตามแผนอย่างที่คิดไว้ จำนวนผู้เข้าสมัครสอบเพื่อเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลมีมากกว่าจำนวนที่โรงเรียนเปิดรับอยู่มาก เพราะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงในขณะนั้น ในวันนั้นคุณครูจึงแนะนำให้เปิ้ลไปสอบเป็นนักกีฬาตะกร้อแทน เพราะเป็นปีแรกที่โรงเรียนเปิดรับสมัครนักกีฬาประเภทนี้ มีนักเรียนหญิงสมัครสอบไม่ถึง 100 คน ทำให้มีคู่แข่งน้อยและมีโอกาสที่จะสอบผ่านมากกว่ากีฬาประเภทอื่น เปิ้ลจึงตัดสินใจตามคำแนะนำของครู จนได้ก้าวเข้าสู่วงการตะกร้อตั้งแต่นั้นมา โดยที่ยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วกีฬาชนิดนี้เล่นอย่างไร
“เมื่อสิบปีที่แล้วผู้หญิงไม่นิยมเล่นตะกร้อ เพราะเป็นกีฬาของผู้ชาย ทำให้คนสมัครเรียนน้อยมาก พอเราเลือกเบนสายมาเรียนตะกร้อแล้วเราก็ต้องไปฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ ผู้ชาย ได้ฝึกลองโต้ข้ามเน็ตธรรมดา ทำอะไรไม่ค่อยเป็น และยังฝึกเดาะลูกได้ไม่ถึงยี่สิบลูกเลยด้วยซ้ำ”
จากทุนการศึกษาสู่ทีมชาติ
ถึงโชคชะตาจะไม่เข้าข้างให้เปิ้ลได้เรียนวอลเลย์บอลอย่างที่ตั้งใจ แต่หลังจากเรียนตะกร้อไปได้ 2 ปี เมื่อขึ้นอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เธอก็มีโอกาสได้เข้าร่วมทีมของโรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี ในการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแข่งขันในครั้งนั้นมีสตาฟฟ์โค้ชของทีมชาติและคณะกรรมการอีกหลายคนมาชม พัฒนาการในการเล่นตะกร้อที่ฉายแววตั้งแต่วันนั้นจึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เปิ้ลได้เข้าสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในวัย 14 ปี
“ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าเราจะตั้งใจซ้อมกีฬาเพราะเราจะได้เรียนหนังสือฟรี ไม่ได้คิดว่าการเล่นกีฬาจะพาเราไปถึงจุดไหน พอได้เข้าทีมชาติเราก็ได้ไปแข่งขันต่างประเทศรายการแรกคือฮานอยคัพ ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นการแข่งขันตะกร้อของประเทศในแถบเอเชีย หลังจากนั้นเราก็เห็นว่าการเป็นนักกีฬาทีมชาติเปิดโอกาสให้ชีวิตเรามากขึ้น เราได้เบี้ยเลี้ยง ได้เงินอัดฉีด จากเดิมที่เรามาจากครอบครัวฐานะธรรมดา แค่พอกินพอใช้ เราเริ่มคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ครอบครัวมีความสุขและสุขสบายมากกว่านี้ ครอบครัวจึงเป็นแรงผลักดันให้เราตั้งใจฝึกซ้อมอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น”
ทุกครั้งที่มีการคัดตัวนักกีฬาเปิ้ลจึงพยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เพื่อให้ได้มีโอกาสเป็นตัวจริงในการแข่งขันรายการใหญ่ๆ อย่างซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ ไม่นานนัก ผลจากความพยายามครั้งนั้น จึงทำให้เธอได้เหรียญแรกในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่เกาหลีใต้ในปี 2002 และเป็นก้าวสำคัญของชีวิตการเป็นนักกีฬาทีมชาติในวัย 14 ปี และอีกหลายสิบเหรียญที่เธอกวาดมาแล้วทั้งซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และรายการต่างๆ ในฐานะตำแหน่งตัวทำ
จากนักกีฬาดาวรุ่งสู่การยืนระยะในฐานะมืออาชีพ
อาจรู้กันอยู่แล้วว่าเปิ้ลเป็นตัวทำ แล้วรู้หรือไม่ว่า ‘ตัวทำ’ ต้องทำอะไร หากคำตอบคือ ไม่ ตัวทำตัวจริงก็พร้อมเล่าถึงสิ่งที่ต้องทำ “เรียกง่ายๆ ว่าเป็นตัวทำแต้ม เป็นตัวฟาด ตัวเตะเพื่อทำคะแนน คนที่เล่นตำแหน่งนี้ต้องมีความอ่อนตัวสูงมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความแข็งแรง มีไหวพริบและปฏิภาณที่ดีเพื่อที่จะได้วิเคราะห์เกมได้ถูก
จะทำแต้มให้ทีมตัวเองได้ก็ต้องคิดเป็นว่าจะเตะยังไง เตะผ่านเน็ตไปแล้วทำอย่างไรให้ไม่โดนบล็อก เป็นหน้าที่ที่หนักพอสมควรเพราะต้องเล่นและคิดไปด้วย ทุกครั้งที่ลงสนามเราจึงมักเจอความกดดันตลอด แต่เราต้องรู้จักเอาความกดดันมาใช้พัฒนาตัวเอง เวลาฝึกซ้อมเราจะพยายามหาจุดด้อยของตัวเอง และปรับปรุงจุดด้อยนั้นให้ดีกว่าเดิมให้ได้”
แม้การแข่งขันจะชนะอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ใช่ว่าเธอจะไม่เคยเจอวันที่ยากลำบาก เปิ้ลเองก็เคยมีช่วง ‘ฟอร์มตก’ อยู่เหมือนกัน การจะทำอาชีพนักกีฬาได้นานจึงต้องรู้จักจังหวะหนักเบาของชีวิตตัวเอง
“เวลาที่เราซ้อมไปเรื่อยๆ มันจะมีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกอิ่มตัว ถ้าเจอความรู้สึกแบบนั้นเราจะผ่อนร่างกายตัวเองลง ในแต่ละวันเราจะให้ตัวเองได้สัมผัสกับลูกตะกร้อบ้างแค่เล็กน้อย เพื่อที่จะได้ไม่กดดันตัวเองมากเกินไป และทำให้เรามีแรงจูงใจอยากเล่นมันบ้าง การเป็นนักกีฬาอาชีพต้องรู้จักทำให้ร่างกายและจิตใจของเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ด้วย พอเรารู้สึกดีขึ้นแล้วแค่กลับมาซ้อมให้มันดีเหมือนเดิม”
นี่คือเหตุผลที่ทำให้เธอยืนระยะกับอาชีพนักกีฬาเซปักตะกร้อมาได้ถึง 20 ปี และยังยืนยันว่ายังจะเล่นตะกร้อต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว
สู่การเป็นพนักงานสิงห์
หลายคนอาจจะคิดว่าการเป็นนักกีฬามานานจะต้องมีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วกีฬาเซปักตะกร้อหญิงไทยยังไม่ได้มีลีกการแข่งขันของตัวเองเหมือนฟุตบอลหรือวอลเลย์บอล และไม่ได้มีโอกาสเข้ารับราชการใดๆ หลังจบการแข่งขันถ้าไม่มีการซ้อมและเก็บตัวในรอบต่อไป สถานะของนักกีฬาจึงไม่ต่างจากคนว่างงาน ไม่ได้มีตารางฝึกซ้อมตลอดเวลาอย่างที่ทุกคนเข้าใจ จึงเป็นเรื่อง น่าเสียดายที่คนเก่งๆ หลายคนอาจจะต้องเสียโอกาสในการทำสิ่งที่ตัวเองรัก เปิ้ลเองก็เคยเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น …คนว่างงานที่เสียโอกาสในการทำสิ่งที่รัก
“หลังจากจบกีฬาเอเชียนเกมส์ที่เกาหลีใต้เมื่อปี 2014 เราและทีมนักกีฬาเซปักตะกร้อทีมชาติไทยได้มีโอกาสไปออกรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่องสาม และเล่าเรื่องนี้ ขณะนั้น คุณต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี ทราบข่าว จึงให้ทีมงานติดต่อเราและเพื่อนอีกสี่คนมาร่วมงานกับสิงห์ หลังจากนั้นเราก็ได้เข้ามาทำงานในกลุ่มประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมกีฬา หน้าที่เราคือทำคลินิกตะกร้อ พอว่างจากการแข่งขัน ก็จะไปสอนทักษะการเล่นเซปักตะกร้อให้น้องๆ ตามโรงเรียนต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งเป็นงานที่เราทำได้ดีและถนัดอยู่แล้ว และยังทำให้เรามีโอกาสได้เป็นนักกีฬาทีมชาติต่อไปด้วย” และนี่คือความเป็นมาของเปิ้ล ที่มีส่วนในการถ่ายทอดเทคนิคการเล่นตะกร้อผ่านคลินิกตะกร้อให้แก่เยาวชนในโรงเรียนต่างๆ ในฐานะพนักงานของสิงห์
เพราะมีสิงห์คอยสนับสนุนเคียงข้าง มอบอาชีพที่พ่วงด้วยอนาคต ทุกวันนี้เปิ้ลจึงทุ่มเทให้กีฬาตะกร้อได้เต็มที่ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด เพื่อเป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างที่ใจเธอรัก พร้อมส่งต่อความรัก ในตะกร้อให้เด็กๆ รุ่นหลัง
เธอว่า การเล่นกีฬาทุกชนิดมันต้องมีความอดทนกับความขยัน ถ้าไม่มี 2 อย่างนี้คงไปไม่ถึงจุดหมาย ที่สำคัญ อย่าคิดว่าตัวเองเก่งตลอดเวลา ต้องมองดูคู่ต่อสู้หรือเพื่อนๆ ที่เขาเล่นกีฬานี้ด้วยว่า เขาทำอะไรกัน และต้องเอากลับมาดูด้วยว่าตัวเองต้องพัฒนาจุดไหน เพื่อต่อยอดให้กับตัวเองและสิ่งที่มุ่งหวังในอนาคต
“ตลอดสิบปีที่ผ่านมาแรงผลักดันในชีวิตเราคือครอบครัว เราทุ่มเทเพราะเราอยากให้ครอบครัวสุขสบาย จากที่บ้านเราเคยไม่มีอะไร เราก็ทำให้มีทุกอย่างได้ด้วยกีฬานี้ เราพูดได้เลยว่าเรามีทุกวันนี้ได้เพราะเราเล่นตะกร้อ เราจึงรักกีฬานี้มาก และอยากอยู่กับกีฬานี้ไปนานๆ”