ใน พ.ศ. 2563 การแสดงโขนกลางแปลงในเทศกาลบอลลูนนานาชาติ ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ดำเนินมาถึงปีที่ 3 ถ้าเทียบกับโขนกลางแปลงงานอุทยาน ร.2 ที่จัดแสดงมากว่า 30 ปี คงเป็นเหมือนต้นตำรับ แต่ทางบุญรอดฯ ในฐานะผู้จัดงานครั้งนี้ ก็มุ่งมั่นตั้งใจเป็นคนเจเนอเรชั่นถัดไปที่หวังสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้เหลือไปถึงมือคน
อีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มรดกวัฒนธรรมไทยอย่าง “โขนกลางแปลง” ให้เป็นที่รู้จักสืบไป
จุดริเริ่มของโขนกลางแปลงในเทศกาลบอลลูนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนคืออะไร ทำไมทางบุญรอดฯจึงอยากช่วยต่อลมหายใจศิลปะที่หาชมยากนี้ เมื่อฉิ่งตีดัง ฉิ่ง! และเสียง ฉับ! จากกรับรับ เป็นสัญญาณว่าเราพร้อมจะพาคุณไปหาคำตอบกับผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดโขนกลางแปลง ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “โขนกลางแปลง” ความฉงนสงสัยบังเกิดขึ้น Google จึงเป็นที่พึ่งแรกที่นึกออก หลังกดแป้นพิมพ์เป็นคำว่า “โขนกลางแปลง” มุมบนซ้ายใต้ช่องค้นหาแสดงผลว่า About 27,500 results ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นตัวเลขที่ดูเหมือนเยอะ แต่นับว่าน้อยมากสำหรับโลกออนไลน์ที่ไร้ขอบเขต และสำหรับเสิร์ชเอนจิ้นที่มีผู้ใช้งาน
มากที่สุดขนาดมียอดค้นหาวันละ 5.4 พันล้านยอด การค้นหาครั้งนี้ทำให้พบวลีหนึ่งในเว็บไซต์กรมศิลปากรที่ระบุว่าโขนกลางแปลงนั้น “ปัจจุบันหาดูได้ยาก” ไม่ต่างจาก
ผลการค้นหาบนกูเกิลครั้งนี้เท่าไหร่…
ใช่ที่โขนกลางแปลงนั้นปัจจุบันหาดูได้ยาก แต่ไม่ใช่หาดูไม่ได้…
ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย วันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ ในเทศกาลบอลลูนนานาชาติที่ผ่านมา มีการแสดงโขนชนิดหายากของไทยนี้ ที่นั่นเป็นโขนกลางแปลงอีกแห่งนอกจากโขนกลางแปลง ที่งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นั่นหมายความว่า
ในประเทศไทยมีการแสดงโขนกลางแปลงเพียง 2 แห่ง เท่านั้น
เพราะความหลงใหล จึงกลายเป็นผู้ผลักดัน
โขนกลางแปลงชุดรามเกียรติ์ ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย 3 ปีที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้งานนี้เกิดขึ้นอย่าง คุณสันติ ภิรมย์ภักดี
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
รวมถึงผู้ที่ร่วมผลักดันให้เกิดงานนี้ คุณอิสระ ขาวละเอียด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ อาจารย์สุรเชษฐ์ เฟื่องฟู
ข้าราชการบำนาญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโขนละคร สังกัดกรมศิลปากร
คุณอิสระเป็น Brewmaster ของสิงห์ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมไทย และอาจารย์สุรเชษฐ์ คือผู้เชี่ยวชาญด้านโขนละครที่เห็นว่าบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
มุ่งสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งสองท่านจึงเป็นส่วนผสมอย่างดีที่ทำให้เกิดโขนกลางแปลงชุดรามเกียรติ์ ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย สุนทรียนาฏกรรมที่ตรึงสายตาผู้ชม
ได้กว่าหมื่นคน
ความคิดแรกเริ่มในการจัดแสดงโขนกลางแปลงในเทศกาลบอลลูนนานาชาติที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย เกิดจากคุณอิสระเล็งเห็นว่าสิงห์ปาร์ค เชียงราย มีพื้นที่สวยงาม
กว้างขวาง มีสนามสวย ต้นไม้สวย ดอกไม้สวย และภูเขาสวย จึงตั้งคำถามในใจว่าทำไมจึงไม่หาอะไรไทยๆ มาอวดโฉมที่นี่ ทำไมสิงห์ปาร์คฯ จึงมีแค่คอนเสิร์ตและ
International Balloon Festival
คุณอิสระในฐานะผู้รักศิลปวัฒนธรรมไทยคำนึงว่าโขนกลางแปลงหาดูแทบไม่ได้แล้ว และไม่ค่อยมีคนรู้จัก ในปัจจุบันมีเล่นอยู่แห่งเดียวอยู่ที่อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความคิดนี้จึงผ่านเข้ามา “เราก็น่าจะเอาตรงนี้ไปแสดงดีมั้ย คนต่างชาติจะได้ดู และผมเชื่อว่าคนท้องถิ่นก็ไม่เคยดู”
คุณอิสระเสนอความคิดนี้ต่อคุณสันติ ทางคุณสันติเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งตัวท่านเองไปดูการแสดงทั้งสองวัน หลังจากจบงานคุณสันติเรียกให้เข้าไปพบแล้วบอกว่า ให้จัดโขนกลางแปลงแบบนี้ทุกปี
อาจารย์สุรเชษฐ์ หัวเรือของคณะโขน คิดเช่นเดียวกัน อาจารย์วาดฝันว่าคนดูการแสดงโขนกลางแปลงที่อุทยาน ร.2 มาเป็นยี่สิบสามสิบปีแล้ว แต่คนทางเหนือไม่มีโอกาส ท่านจึงคุยกับลูกศิษย์ว่าอยากนำโขนไปเล่นทางเหนือ แม้ลูกศิษย์จะค้านว่าคนทางเหนือไม่ค่อยชอบดูโขน แต่อาจารย์ก็ไม่ยอมแพ้ และตั้งธงในใจว่า
“ไม่ได้ ผมจะเอาโขนไปให้ดูให้ได้”
และปีแรกที่โขนกลางแปลงได้ย่างก้าวสู่ผืนดินเชียงรายก็นำพามาซึ่งความสำเร็จ ผู้ชมชาวเหนือบอกอาจารย์สุรเชษฐ์ว่า เพิ่งเคยเห็นโขนตัวเป็น ๆ ครั้งแรก
ซึ่งการแสดงในครั้งนี้ถือว่าเป็นการให้โอกาสทางศิลปวัฒนธรรมแก่ประชาชน เพราะว่าพวกเขาไม่มีโอกาสได้ดูมาก่อน
โขนกลางแปลง นาฏยกรรมโบราณที่ไม่ต้องปลูกโรงโขน
กรมศิลปากรให้คำจำกัดความ “โขนกลางแปลง” ว่าเป็น “การแสดงโขนบนพื้นดินกลางสนามหญ้า ไม่ต้องปลูกโรงให้เล่น” การแสดงโขนกลางแปลงนี้จึงต้องใช้
สถานที่ใหญ่ เพราะไม่มีเวที ต้องใช้สนามหญ้าเป็นเวทีธรรมชาติ มีฉากเป็นต้นไม้ใบหญ้าหรือภูเขา และใช้คนแสดงจำนวนมาก หากสงสัยว่า “มาก” นี้มากแค่ไหน
“เป็นร้อย จึงจะตื่นตาตื่นใจ คึกคัก และถ้าจะให้สนุกก็ต้องมีทั้งยักษ์ทั้งลิง” คุณอิสระผู้รับบทบาทอินทรชิตใน พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 กล่าว
การแสดงโขนท่ามกลางธรรมชาติอย่างภูเขาและทะเลสาบท้าทายกว่าการแสดงโขนในโรงแค่ไหน อาจารย์สุรเชษฐ์ให้คำตอบว่า
“ชื่อเขาบ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นการแสดงกลางแจ้ง ที่สิงห์ปาร์คนั้นได้เปรียบกว่าที่อื่น คือมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม แทนที่จะมีแต่สนามหญ้าอย่างเดียว ก็มีทั้งภูเขาและดอกไม้ แล้วปีนี้ผมหันหลังเวทีให้ดงดอกไม้ ภูเขา เพราะฉะนั้น คนก็จะได้ชมวิวทิวทัศน์ด้วย เต็มมิติตามที่ผู้ใหญ่จากสิงห์ปรารภเอาไว้ ถ้าเทียบกับที่อื่นถือว่าไม่ยาก แค่ปรับแบบแผนตามสถานที่เล็กน้อย เช่นที่สิงห์ปาร์คมีเนิน เราก็ปรับโลเคชันให้เข้ากับบรรยากาศหรือเนื้อเรื่องการแสดง
“ตัวผมชอบเรื่องเทคนิค ผมก็จะเพิ่มเทคนิคเข้ามา เช่นปรับแสงให้เข้ากับบรรยากาศ แต่แสดงกลางแจ้งก็มีข้อแม้คือพระอาทิตย์จะลับเหลี่ยมมั้ย กระแสลมจะมีมั้ย
มันเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกับเล่นในโรงละครที่มืดทั้งหมด เราจะเนรมิตแสงสีเสียงยังไงก็ได้ แต่พอเป็นกลางแจ้ง ถ้ามีลมมาการแสดงอาจจะไม่ได้อย่างที่เราคิด เพราะเราจะต้องปล่อยเอฟเฟกต์ควันช่วย และปีนี้เป็นปีแรกที่ผมเพิ่มความพิเศษ คือใช้โดรนถ่ายภาพมุมสูงด้วย คนที่ดูนักแสดงก็ดูไป แต่ถ้าคนอยากดูที่จอ ก็จะมีซีนที่ตัดมาให้บนจอ
เป็นภาพข้างบน ฉายบนมอนิเตอร์ใหญ่ด้านหลัง”
สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้ไม่เหมือนใครและประทับในใจผู้ชม
อาจารย์สุรเชษฐ์เล่าว่า นักแสดงโขนทุกคนมีสถานะคือผ่านการแสดงมาแล้วอย่างดี กลุ่มศิลปินวังหน้าเป็นกลุ่มนักแสดงที่จัดการแสดงมาแล้ว ผ่านการเรียนจาก
วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บางท่านเป็นศิลปินกรมศิลปากร บางท่านเป็นศิลปินอิสระ ผู้ผ่านการฝึกฝนมาแล้วอย่างดี ซึ่งอาจารย์สุรเชษฐ์เป็นผู้สร้างสรรค์ว่าการแสดงควรจะเป็นอย่างไร และควรจะมีอะไรเป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่นปีที่แล้วที่อาจารย์สังเกตเห็นรูปปั้นสิงห์ที่อยู่ด้านหน้าสิงห์ปาร์ค จึงจุดประกายเป็นการแสดงชุดใหม่เรียกว่า
“ชุดเบิกโรง” ที่แต่เดิมนาฏศิลป์นั้นมีอยู่แล้ว แต่อาจารย์ตั้งใจลงมือทำใหม่และตั้งชื่อให้ว่า “สิงหวตาร” โดยจินตนาการว่าสิงห์เป็นเทพเจ้าที่อวตารลงมาเพิ่มความบันเทิงให้แก่โลก ทั้งให้น้ำบริสุทธิ์ดื่ม ให้การสนับสนุนคนยากจน
อาจารย์เล่าว่า การแสดงโขนกลางแปลงทุกปีจะพยายามทำให้ชวนติดตามยิ่งขึ้น อย่าง พ.ศ. 2563 นี้เป็นตอนใหญ่ ศึกพรหมาสตร์จึงไม่เหมือนกับทุกครั้ง
ผู้ชมได้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ขบวนเทวดา นางฟ้า กลองชนะ ที่ในฉากนั้นประกอบด้วยนักแสดงโขนกลุ่มศิลปินวังหน้าไม่ต่ำกว่า 90 ชีวิต
สืบสานเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมมรดกไทย
“ผมโตขึ้นมาก็มองเห็นว่าทางบุญรอดฯสนับสนุนงานด้านศิลปะทุกอย่าง ไม่ว่าจะดนตรีไทย โขนละคร จิตรกรรม ประติมากรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่บุญรอดฯสนับสนุนมากว่า
สิบปี ส่วนใหญ่จะมาทางด้านอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปะไทย แทบทั้งหมด ในช่วงหลังจึงเริ่มไปสนับสนุนทางด้านกีฬามากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าบุญรอดฯ
ให้การสนับสนุนทางด้านกีฬาค่อนข้างเยอะ หลังจากนี้ทางบุญรอดฯก็จะไปสนับสนุนอย่างอื่นเพิ่มเติม ผมเลยพยายามจะดึงศิลปะไทยกลับมาใหม่ เราไม่อยากให้มันหายไป เพราะเป็นสิ่งที่บุญรอด สนับสนุนมาตั้งแต่ยุคแรกๆ”
คุณอิสระเล่าถึงความหลังครั้งเป็นนักศึกษาพ่วงตำแหน่งหัวหน้าชมรมดนตรีไทย กระทั่งวันที่เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทย และได้มีโอกาสอนุรักษ์การแสดงที่เป็นมรดกของไทย
“ใช่ เราต้องการจะอนุรักษ์ แล้วก็ใช้สถานที่ที่อำนวยของเรามาช่วยส่งเสริมให้มีการจัดการแสดงประเภทนี้ ส่งเสริมให้คนได้รู้จักมากขึ้น ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมาสนใจมากขึ้น และสังเกตว่าในปีแรกที่เราจัดแสดง ผู้ปกครองพาเด็กๆ มา เด็กๆ ก็นั่งดูกับพื้นแล้วลุกขึ้นมารำ โขนรำยังไง เด็กๆ ก็รำอย่างนั้น นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราแอบอมยิ้ม
เด็กๆ นี่ถ้าไม่สนใจ เขาไม่ทำหรอก เราเลยคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี และเราก็ไม่ได้ทำอาชีพนี้ ทุกคนไปด้วยความสมัครใจ เพื่อนฝูงก็ดึงกันมา ทุกคนมีความสนใจทางด้านนี้
และอยากจะอนุรักษ์ อยากส่งเสริม อยากจะสืบสาน” คุณอิสระตอบเป็นการย้ำถึงเจตนารมณ์ของบุญรอดฯและตัวเอง
การแสดงโขนนอกจากโขนจะเป็นศิลปะชั้นสูงสุดของนาฏศิลป์ไทยแล้ว การแสดงกลางแจ้งแบบนี้ก็หาชมได้ยาก ในปัจจุบันแทบจะไม่เหลือ อยากให้คนที่ไปเที่ยวเชียงราย และคนในท้องถิ่นที่ไม่เคยชมการแสดงประเภทนี้ ได้มาดู จะได้เข้าใจศิลปะไทย เนื้อหา ความละเอียดอ่อน รวมทั้งรู้เรื่องราวในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่สองมากขึ้น
การแสดงนี้ทีมงานตั้งใจทำอย่างดีเพื่อให้การแสดงออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด และ ที่สำคัญการแสดงนี้จะจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ใครต่อใครต่างตื่นเต้นกับวันแห่งความรัก แต่คนกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งอยู่กลางสนามหญ้า ชมแสดงโขนกลางแปลงชุดรามเกียรติ์
ตอนศึกพรหมาสตร์ ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย กับฉากหลังที่เป็นภูเขาและเหล่าบอลลูนลูกยักษ์จากนานาชาติ ตลอด 1 ชั่วโมงกับนักแสดงกลุ่มศิลปินวังหน้าเกือบร้อยชีวิต
ทำให้ค้นพบความหมายของ “โขนกลางแปลง” โดยไม่ต้องพึ่งเสิร์ชเอนจิ้นยี่ห้อใด ทำให้เกิดความหวังว่า การสืบสานและผลักดันโขนกลางแปลง ศิลปะที่เป็นมรดกของไทย
จะเปลี่ยนวลีหนึ่งในเว็บไซต์กรมศิลปากรที่ระบุว่าโขนกลางแปลงนั้น “ปัจจุบันหาดูได้ยาก” ไปตลอดกาล