นับแต่แรกเริ่มก่อตั้งมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2518 จวบจนปัจจุบัน รวมระยะเวลามากกว่า 45 ปี ที่มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นและดำเนินรอยตามเจตนารมย์ของพระยาภิรมย์ภักดี นั่นคือการช่วยเหลือผู้คนที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนในชนบทดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแรง ผ่านโครงการต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมในทุก ๆ ด้านมาโดยตลอด

หนึ่งในโครงการที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ดำเนินงานต่อเนื่องมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี คือ  โครงการมอบเสื้อกันหนาวให้แก่ชาวบ้านที่ขาดแคลนเครื่องนุ่มห่ม โดยเฉพาะในหมู่บ้านบนดอยสูงทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพื่อส่งต่อความอบอุ่นให้กับชาวบ้าน พวกเขาจะได้ไม่ต้องทนใช้ชีวิตท่ามกลางความหนาวเย็นอย่างยากลำบาก

ความสำเร็จจากการให้ความช่วยเหลือของโครงการนี้ ล้วนเกิดขึ้นจากความปรารถนาดี และความตั้งใจที่อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตรอบด้านให้คนในชุมชนห่างไกล รวมถึงขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยมี อาจารย์วิมลา ไตรทศาวิทย์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ ผู้คอยประสานงานและดูแลความเรียบร้อยของโครงการให้สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่นเสมอมา

เรื่องราวต่อไปนี้ คือเบื้องหลังหลักคิดของโครงการมอบเสื้อกันหนาว เพื่อถ่ายทอดและสานต่อเจตนารมย์ของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีมาถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนทำงานจิตอาสาเพื่อตอบแทนสังคม

พลิกชีวิตผู้ประสบภัยให้ดีและยั่งยืนได้ด้วยเสื้อกันหนาว

ก่อนที่โครงการมอบเสื้อกันหนาวโดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี จะดำเนินมาได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 30 ปี หมุดหมายแรกซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ภาคเหนือ เกิดขึ้นที่ไร่บุญรอด จังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2532 หรือ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ในปัจจุบัน

อาจารย์วิมลา เล่าให้ฟังว่าขณะนั้นความเป็นอยู่ของชาวบ้านบริเวณไร่บุญรอดค่อนข้างขัดสน มีปัญหาและมีความลำบากในการประกอบอาชีพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จึงนำไปสู่ความคิดริเริ่มในนามมูลนิธิฯ ว่าควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำมาหากิน ความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นและยั่งยืน จึงเกิดเป็นโครงการเริ่มต้นมอบผ้าห่มกันหนาว และสนับสนุนชาวบ้านให้เพาะปลูกเป็นอาชีพหลัก

หลังจากที่มูลนิธิฯ เริ่มแจกผ้าห่มไปได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่าก็มีข้อจำกัด เพราะใช้ป้องกันลมหนาวได้เฉพาะเวลานอนหรือตอนอยู่ในบ้านเท่านั้น เมื่อต้องออกไปทำงาน ชาวบ้านจะประสบกับความหนาวเหมือนเดิม เนื่องจากผืนผ้าห่มมีขนาดใหญ่ ทำให้ใช้ห่มเมื่ออยู่นอกบ้านไม่สะดวก ทันทีที่มูลนิธิฯ ทราบปัญหานี้ จึงเปลี่ยนมามอบเสื้อกันหนาวให้แทนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“นี่เป็นความตั้งใจของมูลนิธิฯ เลยว่าเมื่อลงมือทำสิ่งใดแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วสิ่งที่ทำก็จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้” คำพูดที่อาจารย์วิมลาได้ย้ำอย่างหนักแน่น เพราะเสื้อกันหนาวทุกตัวผลิตจากเส้นใยที่สั่งทอพิเศษเป็นผ้าที่ใช้กันได้ทั้งลมและความหนาว ส่วนคอเสื้อก็ออกแบบเป็นคอเต่าไว้ปิดคอคนใส่ให้อบอุ่นจะได้ไม่ป่วยง่าย ชาวบ้านที่ได้รับเสื้อกันหนาว พวกเขาสามารถใส่ไปได้ทุกที่ ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น

ทุกฝ่ายทำงานทิศทางเดียวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน

ระยะทางร่วม 800 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ตรงไปยังจุดหมายที่อยู่บนดอยสูงชันของจังหวัดเชียงราย ไม่ว่าถนนหนทางจะยากลำบากเพียงใด แต่ชาวบ้านที่กำลังประสบภัยหนาวต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด

มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีจึงรับทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางช่วยประสานงานให้ทุกฝ่ายทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดที่ตั้งไว้

อาจารย์ยอมรับว่าเป็นการทำงานที่ท้าทายมาก ๆ แต่ละขั้นตอนไม่มีอะไรง่ายเลย เพราะทุกครั้งที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นโดยเฉพาะภัยหนาว ชาวบ้านจำนวนมากจะเดือดร้อน พวกเราจึงต้องรีบลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือทันที ไม่ว่าทางขึ้นเขาขึ้นดอยจะคดเคี้ยวแค่ไหน ก็ต้องไปให้ถึงพื้นที่ตรงนั้นอย่างเร็วที่สุด

“การเข้าไปหาชาวบ้านด้วยตัวเอง ทำให้เราได้ให้ความช่วยเหลือถึงมือพวกเขา ชาวบ้านเคยเดินมาบอกว่า รู้ไหมไม่เคยมีใครเข้าทำเพื่อพวกเขาถึงขนาดนี้” อาจารย์ถ่ายทอดประสบการณ์ประทับใจจากการได้ลงไปในพื้นที่ประสบภัย สิ่งที่อาสาสมัครสัมผัสได้คือความรู้สึกดีใจของชาวบ้าน ทำให้ทีมงานรู้สึกชื่นใจไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านในถิ่นทุรกันดาร

นอกจากการมอบเสื้อกันหนาวแล้ว มูลนิธิฯ ยังให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัย เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ผ่านบริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซึ่งอาสามาร่วมลงพื้นที่ คอยให้คำแนะนำและตรวจรักษาสุขภาพเบื้องต้น แต่สำหรับชาวบ้านที่เจ็บป่วยเรื้อรัง มูลนิธิฯ จะช่วยทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นต่อไป

ร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่เบิกบานมีความสุข ทำให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง

“การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ พร้อมกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อยืนหยัดที่จะทำสิ่งดีให้สังคมมีความยั่งยืน คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี” อาจารย์ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดของมูลนิธิฯด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานในมูลนิธิฯ และอาสาสมัครทุกคน ได้ช่วยกันขยายการทำงานให้กว้างขวางขึ้นเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปให้ถึงผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เข้าถึงยากให้ได้มากที่สุด เพราะสังคมจะดีได้ต้องเริ่มต้นจากความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมนั้น

มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ เสมอ หากเรามาร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ที่ของสังคม ทุกคนก็จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน สำหรับอาจารย์ความยั่งยืนที่แท้จริงต้องมาจากความมั่นคงของรากฐานที่ดี นั้นคือร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่เบิกบานมีความสุข “นี่เป็นเหตุผลที่มูลนิธิฯ พัฒนาทุกโครงการเพื่อระดับความเป็นอยู่ ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกด้าน”

นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังสนับสนุนและคอยอำนวยความสะดวกให้พนักงานทุกคนในบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จํากัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับทุก ๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดปี เพราะมูลนิธิฯ เชื่อว่า เราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของเรา การให้ความช่วยเหลือหรือทำสิ่งที่มีคุณค่า คือการเป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคม

อาจารย์ยังชี้ให้เห็นความสำคัญของทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อสังคมว่า “ทุกคนคือฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่มาประกอบรวมกันสร้างพลังที่สามารถขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินต่อไปข้างหน้าได้ ขอเพียงเราร่วมมือและคอยช่วยเหลือกัน”

การให้ด้วยใจ คือการให้โดยไม่คาดหวังผลตอบแทนใด ๆ

ถึงวันนี้กิจกรรม “สิงห์อาสา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว” และทุกโครงการของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี อาทิ โครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทุนบุญรอดพัฒนานิสิต นักศึกษา ทุนอาหารกลางวัน เพื่อโรงเรียนภาคเหนือ ต่างดำเนินงานเพื่อสืบสานเจตนารมย์ของพระยาภิรมย์ภักดีต่อไปไม่สิ้นสุด นั่นคือการให้

การให้ด้วยใจสำหรับอาจารย์ คือการให้โดยไม่คาดหวังผลตอบแทนใด ๆ “ตลอดเวลาที่อาจารย์ดูแลงานตรงนี้มีความสุขมาก เพราะเราทำด้วยใจที่ปิติ” อาจารย์เชื่อมั่นว่า การทำดีคล้ายกับการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอกับสิ่งดี ๆ บางครั้งต้องมองข้ามความสบายของตัวเองไปก่อน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าในตอนนั้น คือการได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีชีวิตที่ดี ตัวเราเองก็ได้บุญด้วยที่ได้ช่วยเหลือกัน

ในโลกของการทำธุรกิจ ผลกำไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการดำเนินต่อไปได้ แต่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จํากัด ก็ไม่ลืมที่จะตอบแทนและแบ่งปันคืนสู่สังคมไทย ผ่านทุกโครงการของมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีสืบไป

ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นหน่วยงานหนึ่งซึ่งทำงานเพื่อสังคมและอยู่เคียงข้างสังคมไทยเสมอ โดยสนับสนุนให้สังคมยกระดับความเป็นอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทำให้คนไทยมีความสุขทั่วกัน เพราะการให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการให้ด้วยหัวใจ และช่วยเหลือสังคมอย่างใจจริง