
นับจากปี 2558 ที่สิงห์อาสาลงพื้นที่ซ่อมแซมสะพาน “ฮาแหล่จะ” ก็ผ่านมา 5 ปีแล้ว และในปี 2563 สิงห์อาสาได้กลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อทำภารกิจเดิม นั่นก็คือการซ่อมแซมสะพานแขวนแห่งเดียวของเชียงรายแห่งนี้ เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สะพานถูกใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สะพานที่เคยสวยงามและแข็งแรงผุพังไปตามกาลเวลา เป็นอันตรายกับชาวบ้านและเด็ก ๆ ที่ใช้งาน และเมื่อสิงห์อาสาลงสำรวจพื้นที่ ทำให้เราเห็นว่าสะพานได้รับความเสียหายมาก จำเป็นต้องซ่อมแซมโดยด่วน ภารกิจนี้จึงเริ่มต้นขึ้นทันทีในวันที่ 11 มีนาคม
นอกจากสะพาน “ฮาแหล่จะ” จะถูกใช้เป็นสะพานข้ามฝั่งแม่น้ำกกแล้ว ยังถูกใช้เป็นเส้นทางขนพืชผักทางเกษตรจากอีกฝั่งไปขายที่อีกฝั่ง ทำให้สะพานต้องรับน้ำหนักจำนวนมากเป็นเวลาหลายปี จนพื้นไม้บางส่วนหลุดหาย บางส่วนก็แตกหักเป็นอันตรายกับผู้ใช้งาน และจากการสำรวจความเสียหายร่วมกับช่างในพื้นที่ทำให้เรารู้ว่า ต้องใช้ไม้ถึง 180 แผ่นมาแทนที่พื้นสะพานที่เสียหายเกือบทั้งหมด แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะสิงห์อาสาและช่างในพื้นที่ก็ได้ร่วมกันเปลี่ยนพื้นสะพานใหม่จนเสร็จในที่สุด
ไม่ใช่แค่พื้นสะพานที่สิงห์อาสาให้ความสำคัญ แต่เรายังให้ความสำคัญในเรื่องของสีสะพานที่ซีดจางไปตามเวลาด้วย ซึ่งถ้าปล่อยไว้คงไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะสะพาน “ฮาแหล่ละ” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย มีนักท่องเที่ยวมาที่นี่เป็นจำนวนมาก ถ้าเราปล่อยให้สะพานทรุดโทรม คนก็คงมาเที่ยวกันน้อยลง และรายได้ของชาวบ้านก็จะหายไปด้วย ดังนั้นในการทำภารกิจซ่อมสะพาน “ฮาแหล่จะ” สิงห์อาสาก็ไม่ลืมที่จะขนถังสีไปเติมความสวยงามให้สะพานกลับมาดูสดใส มีชีวิตชีวาอีกครั้ง
การทำภารกิจในครั้งนี้ สิงห์อาสาแบ่งหน้าที่ในการทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มีหน้าที่เปลี่ยนพื้นสะพาน โดยงัดไม้ที่ผุพังออก และทยอยขนไม้ใหม่มาเปลี่ยน ส่วนกลุ่มที่ 2 มีหน้าที่ทาสีเสาสะพาน โดยขัดสีเก่าที่ลอกล่อนและโป่งพองออก ก่อนจะทาสีรองพื้นปูนเก่า และทาสีจริงทับด้วยสีเหลือง และน้อง ๆ ที่มาร่วมภารกิจนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พวกเขาคือน้อง ๆ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายนั่นเอง นอกจากนี้เราก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากช่างในพื้นที่ที่มาให้ความรู้ด้านการช่างและให้คำแนะนำกับเราด้วย
วันแรกที่สิงห์อาสาได้กลับมาเยือนที่สะพาน “ฮาแหล่จะ” เห็นได้ชัดเลยว่าสะพานได้รับความเสียหายขนาดไหน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวบ้านที่ใช้สะพานเป็นทางสัญจรไปมา ขนาดตอนที่สิงห์อาสากำลังซ่อมสะพานเราก็ไม่สามารถปิดสะพานเพื่อซ่อมแซมได้ เพราะชาวบ้านต้องใช้สะพานนี้กันอยู่ตลอดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเดินทางอ้อมหลายกิโลเมตร หรือต้องเสี่ยงข้ามทางแม่น้ำกก และสิ่งนี้นี่ล่ะครับที่ทำให้เรารู้ว่าสะพานแขวนแห่งนี้มีความสำคัญกับชาวบ้านมากขนาดไหน สิงห์อาสาจึงตั้งใจซ่อมสะพานกันอย่างเต็มที่ จนในที่สุดสะพานที่ทั้งแข็งแรง ปลอดภัย และสวยงามก็กลับคืนมาอีกครั้ง นี่ล่ะคือพลังของสิงห์อาสา